สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่า ผู้เขียนงานศึกษาระบุว่า การค้นพบดังกล่าวเน้นย้ำถึงผลกระทบของการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในทุกทวีป โดยพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก

“ทั้งการเผาน้ำมันทุกบาร์เรล การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกตัน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกองศาเซลเซียส คลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบต่อผู้คนมากขึ้น” นางฟรีเดอริเก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน และผู้เขียนร่วมของรายงาน กล่าว

สำหรับการประเมินอิทธิพลของภาวะโลกร้อน นักวิจัยได้วิเคราะห์ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2568 โดยให้คำจำกัดความของ “วันที่มีอากาศร้อนจัด” ว่าเป็นวันที่มีร้อนกว่า 90% ของอุณหภูมิซึ่งบันทึกไว้ในสถานที่หนึ่ง ระหว่างปี 2534-2563

หลังจากนั้น ทีมนักวิจัยก็ใช้แบบจำลองที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ และเปรียบเทียบจำนวนวันเหล่านั้นกับโลกจำลองที่ไม่มีภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้คนประมาณ 4,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 49% ของประชากรโลก ประสบกับอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานกว่าปกติอย่างน้อย 30 วัน

ทั้งนี้ ผู้เขียนงานศึกษาเน้นย้ำถึงความจำเป็นของระบบเตือนภัยล่วงหน้า การศึกษาสาธารณะ และแผนปฏิบัติการรับมือความร้อนที่ถูกปรับให้เหมาะสมกับเมืองต่าง ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด วิธีเดียวที่จะยับยั้งความรุนแรงและความถี่ของอากาศร้อนจัดที่เพิ่มขึ้นได้ คือ การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว.

เครดิตภาพ : AFP