50 ปีที่ผ่านไป ก่อนปี 2000 เราเพิ่งตระหนักได้ว่ามหานครคือตัวปัญหา เราค่อย ๆ ขยายเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น แต่เรากลับทำลายความยั่งยืน เราสร้างปัญหามากมาย สร้างมลพิษ สร้างขยะจำนวนมหาศาล และที่สำคัญเราปลดปล่อยคาร์บอนเกินความจำเป็น เร่งสู่ภาวะโลกเดือดในทุกวันนี้
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เมืองที่มีวิสัยทัศน์ทั่วโลก ต่างพัฒนากลับด้าน ออกแบบเมืองกันใหม่ ปรับปรุงผังเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยแนวคิดคนเดินเป็นใหญ่ เร่งลดขนาดถนนสำหรับรถยนต์ลง เปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน และทางจักรยาน เติมต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ร่มเย็น ลดอุณหภูมิ และช่วยดูดซับคาร์บอนทุกเมืองต่างช่วยกันสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) และอีกไม่นานจะไปถึงเมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero City)
กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน หลังสงครามโลก ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนพื้นที่สวนไร่นา มาเป็นที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ ถมคูคลอง
ต่าง ๆ มาทำเป็นถนน การเติบโตของเมืองไร้ทิศทาง ไม่สนใจการออกแบบเมืองที่ยั่งยืน การออกแบบผังเมืองที่ไม่ดี ทำให้การจัดการลำบาก ผู้คนต้องเดินทางไกล ปลดปล่อยคาร์บอนเกินจำเป็น รถติดสิ้นเปลืองพลังงาน เมื่อฝนตกน้ำก็ไม่ระบาย เพราะคูคลองและพื้นที่ซับน้ำหายไป เราน่าจะผิดตั้งแต่การออกแบบ เราขาดสถาปนิกเมืองที่เข้าใจความยั่งยืน

จำได้ว่า 20 ปีที่แล้ว ตอนที่เราเริ่มต้นออกแบบระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าที่โยงใยการเดินทางใน กทม. เหล่าสถาปนิกและนักออกแบบที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองทั่วโลก ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นโอกาสดีที่จะปรับปรุงผังเมืองครั้งใหญ่ เพราะแนวรถไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของเมือง นักออกแบบเสนอว่าควรพิจารณาการทำ Zoning ใหม่ให้เป็นเมือง 15 นาที สามารถทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล วางแผน IOT ให้เมืองฉลาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น วางระบบการจัดการต่าง ๆ ใหม่ทั้งการเก็บขยะ การทำความสะอาด และการบริการสาธารณะ ลดขนาดถนนที่ไม่จำเป็นลง เพิ่มพื้นที่สีเขียว และอาคารที่จะเกิดใหม่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าต้องออกแบบให้เป็นอาคารเขียว ที่ส่งเสริมเมืองยั่งยืน มีการวางแนวอาคารเพื่อกำหนดทิศทางแดด ลม และร่มเงาต้นไม้ให้เมืองเย็นขึ้น ส่งเสริมคนเดิน และจักรยาน รวมทั้งแก้ปัญหา Last Mile ของการเดิน จักรยาน รถ ราง เรือ ให้ไร้รอยต่อ ที่สำคัญถ้าสามารถนำเสน่ห์ต่าง ๆ ของเมือง มาเป็นแนวคิดในการออกแบบด้วยแล้วจะเพิ่มภาพจำ Soft Power ทำให้เกิดความโดดเด่นของ CityBranding ได้
เสียดายคำแนะนำดี ๆ ที่เกี่ยวกับการออกแบบมหานครแห่งความยั่งยืนในวันนั้น เป็นเพียงเสียงนกเสียงกา ที่ผู้บริหารเมืองไม่สนใจ เมื่อเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด วันนี้มหานครของเราจึงมีปัญหามากมาย ห่างไกลความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ BBC เพิ่งประกาศผล 10 สุดยอดเมืองที่น่าอยู่ เป็นเมืองที่ใส่ใจความยั่งยืน ได้แก่ 1. Copenhagen 2. Zurich 3. Singapore 4. Aarhus 5. Antwerp 6. Seoul 7. Stockholm 8. Taipei 9. Munich 10. Rotterdam โดยทุกเมืองมีความโดดเด่น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. การออกแบบ มีทีมสถาปนิกเมืองที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน มีสถาบันวิชาการที่ช่วยวิจัยพัฒนา มี City Lab เพื่อทดลองและขยายผล มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาเสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ และด้าน
ศิลปวัฒนธรรม Soft Power 2. การจัดการ มีโครงสร้างการจัดการที่ดี รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน ไม่เกี่ยงกันรับผิดชอบ มีศูนย์ข้อมูล และการจัดการเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ สามารถบัญชาการได้ยามเกิดภาวะฉุกเฉิน และสื่อสารตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว 3. การมีส่วนร่วม เมืองเหล่านี้จะมีความเข้มแข็งของชุมชน มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ผู้นำภาคประชาสังคมทำงานร่วมกับผู้นำภาครัฐ และภาคธุรกิจได้ดี หลายเมืองมีกองทุนเมืองที่ทุกภาคส่วนร่วมกันบริจาค และมีอาสาสมัครมาช่วยงานภาครัฐอย่างเข้มแข็ง
วันนี้ กทม. ของเราตั้งใจจะตามกระแสความยั่งยืนของโลกให้ทัน มีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเมือง ทำหลักสูตรเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้บริหาร กทม. สก. สข. ผู้นำชุมชน และผู้นำภาคธุรกิจ เมื่อมีความรู้แล้วต้องร่วมกันลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยมี City Living Lab ไว้เป็น Sand Box ทดลองความคิดแล้วนำไปทำจริง
เมืองที่ยั่งยืนต้องเริ่มที่การออกแบบ การจัดการ และการมีส่วนร่วม … ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มต้นใหม่.
