สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ว่า แม้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนสัตว์จริง แต่เจ้า ROPET สามารถตรวจจับผู้คน อาหาร และสิ่งของต่าง ๆ ได้ด้วยกล้องในตัว พร้อมตอบสนองผ่านการสบตา ส่งเสียง และทำท่าทาง ทั้งยังมีโหมดบุคลิกภาพ 8 แบบ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการปฏิสัมพันธ์ของเจ้าของ
หวังกล่าวว่า ROPET ช่วยปลอบโยนเธอเวลาเครียด แถมไม่สร้างความวุ่นวายเหมือนสัตว์เลี้ยงจริง ทั้งยังพัฒนาโดยบริษัท คิวต์ เวิลด์ เทคโนโลยี จำกัด (Cute World Technologies Ltd.) ที่เธอเองมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย
โจวอวี้สู่ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน ผู้ร่วมก่อตั้ง ROPET กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงเอไอถูกออกแบบมาเพื่อ “แข่งขัน” กับสัตว์จริง ในแง่ของการสัมผัสและการตอบสนองต่อผู้เลี้ยง พร้อมเสริมว่า สัตว์เลี้ยงเอไอส่วนใหญ่ ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนสัตว์เลี้ยงจริง
จุดเด่นของ ROPET อยู่ที่ความง่ายในการดูแล และความสามารถในการตอบสนองทางอารมณ์ ผู้เลี้ยงไม่ต้องให้อาหารหรือพาพวกมันไปเดินเล่น อีกทั้งยังเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในเครื่อง เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ROPET เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัย 25-40 ปี และตอนนี้เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศแล้ว นับตั้งแต่เริ่มพัฒนา เมื่อปี 2565 นอกจากนี้ ROPET เปิดตัวอย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์มระดมทุนต่างประเทศ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมียอดขาย 1,400 ชิ้น ในยุโรปและอเมริกาเหนือ และมียอดขายอีก 8,000 ชิ้น ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไต้หวัน โดยคาดว่าจะเปิดตัวเต็มรูปแบบในจีนแผ่นดินใหญ่ในปีหน้า
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่จีนมีแนวโน้มอาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น จึงส่งผลให้ตลาด “เศรษฐกิจจากความเหงา” ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าหลายแสนล้านหยวน เติบโตอย่างรวดเร็ว สัตว์เลี้ยงเอไอ กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการมีเพื่อนเคียงข้าง แต่ไม่มีเวลาดูแลสัตว์เลี้ยงที่มีชีวิตจริง รวมถึงคนที่แพ้ขนสัตว์ หรืออาศัยอยู่ในที่พักที่ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA