สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร ฟรอนเทียร์ส อิน นิวทริชัน (Frontiers in Nutrition) และสรุปไว้ในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ บ่งชี้ว่า ไฟไม่เพียงแต่ถูกใช้เพื่อให้ความอบอุ่นหรือให้แสงสว่างเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เนื้อสัตว์เน่าเสียอีกด้วย
นักวิจัยตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดี จากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ 9 แห่ง อายุระหว่าง 1.8 ล้านถึง 8 แสนปีก่อน ซึ่งรวมถึง 2 แห่งในอิสราเอล และที่เหลือในแอฟริกาและสเปน แม้แหล่งโบราณคดีทั้งหมดจะมีร่องรอยของการใช้ไฟ แต่กลับไม่มีร่องรอยทั่วไปของการปรุงอาหาร เช่น กระดูกที่ถูกเผา ในทางกลับกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านี้กลับมีซากสัตว์ขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น ช้าง ฮิปโปโปเตมัส และแรด
นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า มนุษย์ยุคแรกใช้ไฟรมควันให้เนื้อแห้ง ซึ่งจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้อย่างมาก ทว่าเมื่อพิจารณาจากความยากในการสร้างและดูแลไฟ ทีมวิจัยมองว่าการใช้ไฟน่าจะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวและใช้อย่างมีจุดประสงค์
เนื้อและไขมันจากช้างเพียงตัวเดียว สามารถเป็นอาหารมนุษย์นับสิบคนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ใหญ่จำนวนมาก เพื่อไม่ให้เน่าเสีย และป้องกันสัตว์กินซาก
ผลการวิจัยสนับสนุนสมมุติฐานที่กว้างขึ้นว่า วิวัฒนาการและพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคแรกเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการพึ่งพาสัตว์ป่าขนาดใหญ่ และเมื่อขนาดของสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อลดลงตามกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลต่อกลยุทธ์การล่า วิธีการกินอาหาร และความเชี่ยวชาญด้านการใช้ไฟในท้ายที่สุด.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES