เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่อาคารแพทยสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี นำรายชื่อของแพทย์ และประชาชน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ รุ่น 16,17, 22, 23, 26, 27, 28, 29, 32, 34, 35 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชรุ่น 83, 87, 89, 68, 71 คณะแพทยศาสตร์รามาฯ รุ่น 14, 21, 24, 30, 39 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 72 คน ศิษย์เก่าจุฬาฯ รุ่นที่ 14 และรายชื่อที่ ดร.วิรังรอง ทัพรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 ได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนมติแพทยสภา กว่า 52,300 คน มายื่นต่อแพทยสภา เพื่อเป็นกำลังใจก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อลงมติ กรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา มีการวีโต้คำสั่งแพทยสภา วันที่ 12 มิ.ย. นี้ พร้อมเสนอ 3 ข้อเรียกร้องคือ 1. ให้คณะกรรมการแพทยสภาทุกท่านเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ไม่มอบหมายให้ผู้อื่นเข้าประชุม 2.ขอให้ไม่ลงมติ “งดออกเสียง” และ 3.ให้ลงมติลงโทษแพทย์ทั้ง 3 คน ตามมติเดิมของคณะกรรมการแพทยสภาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568  

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในกรรมการแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 35 คน และกรรมการการโดยตำแหน่ง โดยเฉพาะคณะแพทย์ทั้ง 28 แห่ง จะสามารถฝ่าฝันกระแสกดดันได้อย่างแน่นอน เพราะเบื้องหลังคนเหล่านี้มีทั้งมีคณะแพทย์ นิสิตแพทย์ ที่หนุนหลังอยู่ ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เป็นเป็นข้าราชการประจำ เข้าใจว่า ถูกบังคับบัญชากดดันมา ซึ่งเป็นกลการเมืองแน่นอน พร้อมย้ำว่า ในแพทยสภาได้สภาไม่มีการเมือง

“ยืนยันแล้วว่า มีความจริงที่มีการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการสั่งการด้วยวาจา แน่นอนว่าไม่มีหนังสือสั่งการลงมาหรอก ส่วนตัวขออนุญาตสื่อถึงกรรมการแพทยสภา ที่เป็นข้าราชการประจำว่า แม้เป็นข้าราชการที่มีผู้บังคับบัญชา แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือการเป็นแพทย์ ท่านได้รับอำนาจจาก พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้มาเป็นกรรมการแพทยสภา แม้ตามปกติ ท่านจะบอกว่างานเยอะและมักจะมอบหมายให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุม แต่ผมขอเรียกร้องให้ท่านเข้าร่วมประชุมในวันที่ 12 มิ.ย. ประชาชนทั้งประเทศกำลังจับตามองการประชุมครั้งสำคัญของแพทยสภาครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนให้ท่านมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง เพราะท่านรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วหลายวัน สามารถเลื่อนงานต่างๆ เพื่อมาประชุมครั้งสำคัญนี้ และยืนยันมติแพทยสภา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา”

นพ.ตุลย์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังการยื่นหนังสือ ว่า การที่นายสมศักดิ์ วีโต้ตอนหนึ่งว่า แพทย์ดูแลผู้ป่วยทำไมต้องมีความผิดด้วย ซึ่งในส่วนนี้ ก็ต้องเรียนว่า การตรวจผู้ป่วยรายนี้ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมก็ต้องบอกว่า อาการป่วยที่ว่านั้นมีอาการวิกฤติจริงหรือไม่ หากเอกสารหลักฐานไม่ระบุว่า “ไม่ป่วยวิกฤติ” ใบรับรองแพทย์ที่ออกมาก็คือเป็นเท็จ ซึ่งตามกฎการออกใบรับรองแพทย์เท็จจริงต้องลงโทษพักใบประกอบวิชาชีพ 6 เดือน และโทษนี้ไม่ใช่ว่าแพทยสภาเป็นคนตั้ง ไม่ว่าตนเป็นหมอตุลย์ หรือหมอท่านใดออกใบรับรองแพทย์เท็จ ที่พบบ่อยคือกรณีมีคนมาขอใบรับรองแพทย์ไปขึ้นศาล ทั้งนี้ การออกจากเรือนจำ โดยมีแพทย์มาให้ความเห็นเพื่อช่วย

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า การที่เรามาสนับสนุนแพทยสภา เพราะเป็นการสนับสนุนข้อความที่ถูกต้อง ไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมือง ตามที่คนที่อยู่ฟากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง เชื่อว่า ประชาชนทั่วไปก็รู้ว่า การออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จมีบทลงโทษอย่างไร ทั้งนี้ หลังพบตัวแทนแพทยสภา ท่านก็ยืนยันว่าจะทำหน้าที่เที่ยงตรง เป็นธรรม ใช้หลักวิชาชีพเท่านั้นเป็นหลัก ไม่มีการเมือง.