เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาเกี่ยวกับกรณีการพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ต่อกรรมาธิการฯ โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง

นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า มีการแต่งตั้งอนุคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธาน และมี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย เป็นรองอนุกรรมการ ช่วยแก้ปัญหาแม่น้ำกก ประชุมมาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งผลประชุมคือมลพิษข้ามพรหมแดนจากเมียนมา มีการแก้ปัญหาต้นทางเจรจารัฐต่อรัฐ โดยนายประเสริฐ เป็นผู้นำคณะเจรจาไปเจรจา มีเจรจา2 ระดับ คือ รัฐต่อรัฐ กับระดับพื้นที่ตามที่กองกิจการชายแดนทหารเป็นผู้รับผิดชอบ

นายประเสริฐ กล่าว่า มีหลายมาตรการหลายทาง ตรวจคุณภาพน้ำ สัตว์น้ำ ระดับสารพิษ ในร่างกายประชาชนต่อเนื่อง และชี้แจงแนวทางปฏิบัติ ตั้ง CCTV เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ พร้อมกันนี้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้ามี รมช.มหาดไทย เป็นหัวหน้าศูนย์ ประสานงานจังหวัดและส่วนกลาง และตั้งคณะทำงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เน้นเจรจากับเมียนมา มีรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

“ส่วนมาตรการเชิงรุกมีความเห็นว่าต้องสร้างฝายดักตะกอน เพราะสารหนู เมื่อความเร็วน้ำลดลง จะมีการตกตะกอนที่ฝายน้ำ จ.เชียงราย ที่เราสังเกตเห็น จึงมีแนวคิดว่าต้องทำฝายดักตะกอน เพื่อลดความรุนแรงของสารหนู ซึ่งเป็นมาตรการหลัก และมีการเตรียมแหล่งน้ำดิบอื่น เพื่อทดแทนการใช้น้ำจากแม่น้ำกกในอนาคต ปัจจุบันประปาส่วนภูมิภาค สามารถบำบัดสารหนูได้อยู่ หากในอนาคตรุนแรงขึ้น ต้องหาแหล่งน้ำดิบอื่น” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 3 จุด ใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งหากมีสถานการณ์รุนแรงจะจัดการแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทันที และจะทำฝายชั่วคราวดักตะกอนที่บริเวณต้นทางที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ดักจับในพื้นที่ก่อนที่จะเข้าตัวเมือง โดยจะสร้างเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งเคยใช้แก้ปัญหาที่คลิตี้สำเร็จมาแล้ว โดยกรมทรัพยากรน้ำ และเน้นเจรจากับเมียนมา พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และทำให้น้ำมีความลึก ให้สารตกตะกอนท้องน้ำ ราคาทำฝายใช้งบประมาณสูงนิดหนึ่ง ระยะยาววางเรื่องฝายขั้นบันได้ด้วย

ส่วนนายพงศ์พันธุ์ กาญจนการุณ ผู้ทรงคุณวุฒิลุ่มน้ำกก กล่าวว่า หากทำฝายถาวรจะต้องเป็นฝ่ายลักษณะกล่องหินเรียง หากขัดต่อกฎหมายกรมเจ้าท่า ต้องใช้กฎหมายกรมทรัพยากรน้ำในการสร้างฝาย และจากการตรวจสอบตะกอนทรายพบปริมาณสารหนูน้อย แนะควรมีฝายตะกอนทรายดักก่อน จากนั้นเป็นแอ่งใหญ่ให้เกิดตะกอนดินเป็นอ่างดักรวม เสนอให้มีฝายต้นทางเพิ่ม 1 จุด ส่วนรูปแบบฝายชั่วคราว เสนอทำฝายคอกหมู ทำได้เร็วใช้งบประมาณไม่มาก ใส่วัสดุไม้ ขณะที่การบำบัดสาร เช่น 1.ใส่ปูนขาว 2.กลบฝังหาพื้นที่ 3.ใช้พืชน้ำบำบัด

ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กรรมาธิการฯ สอบถามประเด็นค่าทำฝาย 538 ล้านบาท และค่าบำบัด 338 ล้านบาทต่อปี และการบำบัดสารหนู การจัดการตะกอน โดยทางกรมทรัพยากรน้ำ นายประเสริฐ ชี้แจงว่า ประสิทธิภาพฝายชั่วคราวที่จะสร้างสามาระดักจับตะกอนได้เต็มที่ เป็นโครงสร้างแบบเครเบียน ซึ่งค่าทำฝายเมตรละ 7 แสนบาท มั่นใจว่ามีความมั่นคงแข็งแรง แต่แม่น้ำกกไหลแรงมาก หากต้องเสียงบประมาณแล้วต้องมั่นใจว่าจะแข็งแรงเพื่อให้ประสิทธิภาพดักจับได้ผล ส่วนงบฯ ทำฝายอาศัยกฎหมายใช้งบกลาง การก่อสร้างทำได้เริ่มเดือน พ.ย. นี้ โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 เดือน

ส่วนค่าก่อสร้างจะต้องลงพื้นที่สำรวจ ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด ยืนยันทุกอย่างจะดำเนินการอย่างโปร่งใส และชี้แจงสาเหตุที่ไม่ได้ทำในช่วงน้ำเยอะได้เพราะระดับน้ำเชี่ยว น้ำหลากยากที่จะก่อสร้าง เสี่ยงฝายพังสูญเปล่า สำหรับการทิ้งตะกอนที่ดักจับสารหนู หรือจุดทิ้งดิน ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งจะต้องมีการประชุมระหว่างหน่วยงานภายใน คือระหว่างกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งมีพื้นที่ป่า กับประชาชนในพื้นที่ ต้องหาฉันทามติร่วมกันว่าจะเลือกจุดไหน และเป็นจุดที่ไม่กระทบต่อประชาชน ยังอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินการ

ด้านนางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถามถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องต่างประเทศ นโยบายใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะมีข้อตกลงที่สามารถทำได้ในการร้องเรียนอาเซียนและสหประชาชาติกรณีเมียนมา-จีน ไม่รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้อง โดยนายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผอ.กองเอเชียตะวันออก 2 กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่ามีการประสานงานเมียนมากับจีน ในการแก้ไขปัญหานี้ที่ต้นทาง ปัจจุบันทั้งสองประเทศรับทราบปัญหาและแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการแก้ไข ซึ่ง รมช.ต่างประเทศของจีน ได้ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในเรื่องนี้

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้หารือเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมา อยู่ระหว่างการรอกำหนดวัน คาดว่าภายในเดือนนี้ ส่วนจีนได้ขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น รายชื่อบริษัทที่ไทยยังสงสัยว่าเค้าลงทุนทำเหมืองในเมียนมา ซึ่งไทยได้ส่งรายชื่อจากที่มีให้จีนแล้ว ให้ตรวจสอบและพูดคุยหรือบังคับใช้กฎหมายที่สามารถทำได้เพื่อทำให้บริษัทเหล่านั้นประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น ส่วนการพูดคุยกับเมียนมาคือการเตรียมพูดคุย คิดว่าสิ่งที่น่าจะทำให้มีความคืบหน้าได้คือการลงพื้นที่สำรวจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ฝ่าย เบื้องต้นเมียนมาตอบรับก็เห็นว่าเป็นแนวทางที่เป็นไปไปได้

“ส่วนเรื่องการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการจัดการเรื่องนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งหลักกฎหมายระหว่างประเทศมีหลักการป้องกัน ระบุไว้ว่ารัฐจะต้องออกมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้กิจกรรมใดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐเกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น กลไกการบังคับใช้เรื่องนี้ต้องไปศาล หรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อให้มีคำตัดสินเรื่องนี้ เหมือนเราอยู่ในประเทศ เรามีข้อพิพาทใดถ้ามีอะไร พูดคุยร่วมมือแก้ไขปัญหากันได้ ไม่ต้องขึ้นศาลก็จะดี เป็นทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในชั้นนี้ทั้ง 2 ประเทศ เมียนมาและจีนแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทย ในชั้นนี้คิดว่าเราทางนี้น่าจะแนวทางที่จะเดินไปก่อน“ นายคมกฤช กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ปริทัศน์ ตรีกาลนนท์ รองเจ้ากรมข่าวทหารบก ชี้แจงบทบาทกองทัพบก หลังจากที่ได้ข้อมูลในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 เข้าใจว่าต้นทางอยู่ในพื้นที่ของว้า ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธ์ุที่มีความพร้อมด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในว้าใต้ พื้นที่ติดชายแดนไทย ซึ่งในพื้นที่รายได้หลักคือยาเสพติด และเหมืองนั้นได้ข้อมูลมาจากภาพถ่ายดาวเทียมจิสด้ามีการทำเหมือง แต่เมื่อพิสูจน์ทราบเชิงลึกว่าเป็นเหมืองอะไร ข่าวคือเหมืองทองคำ แต่มีข้อมูลเหมืองแรร์เอิร์ธด้วย กองทัพบกจะร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง ในการใช้ข่าวกรองบุคคลเข้าไปตรวจสอบ จนได้ชื่อบริษัทส่งให้ กต. และแจ้ง TBC 3 ครั้ง และ RBC รับทราบ

“แต่ยังมีกองกำลังว้าที่จะต้องมีกระบวนการ เพราะการจะพูดคุยกับกองกำลังว้านั้น แตกต่างจากกองกำลังด้านตะวันตก แต่ของว้าเป็นเรื่องยาเสพติดและฐานปฏิบัติการที่เคยมีปัญหา จะต้องใช้การพูดคุยปิดลับ คิดว่าว้าในพื้นที่ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยอื่นอยู่ ไทใหญ่ ชาติพันธุ์อื่นอยู่ จะต้องให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทั้งหมด เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่ง“ พล.ต.ปริทัศน์

ส่วนการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคหรือ RBC ครั้งที่ 37 ไทยจะเป็นเจ้าภาพโดยจัดวันที่ 2-4 ก.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจากข้อบันทึกการประชุมครั้งก่อนไทยและเมียนมา มีข้อกังวลเรื่องการปล่อยน้ำเสีย และมลพิษลงแม่น้ำซึ่งเป็นเขตแดน และจากการประชุมของ กต. มีข้อห่วงใยเรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะกรณีใช้คำว่า “จีนเทา”, “ตึกจีนถล่ม”, “เหมืองจีน” หากใช้สันติวิธีในการเจรจาจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะว่าว้ามีกองกำลังที่ทันสมัย มีประชากร 5 แสนคน และมีกองกำลัง 3 หมื่นคน

นายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวถึงกลไกในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศและกองทัพบกและชี้แจง ซึ่งใช้เป็นกลไกหลัก แต่ประเด็นสำคัญในตัวละครเรื่องนี้ คือกลุ่มว้า ต้องยอมรับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความสำคัญและอิทธิพลในพื้นที่สูง สมช. เห็นความสำคัญนโยบายความมั่นคงของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา มีแนวทางต่อเนื่องยาวนาน ที่ต้องมีการทบทวนในนโยบายจะต้องพิจารณาถึงแนวทางปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อไทย สมช. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางเกี่ยวกับท่าทีของไทย โดยจะต้องมีการดำเนินการในทางเปิดและทางลับ.