เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “เทคนิคการใส่ถุงมือตามร้านอาหาร และสถานบริการ” ได้เห็นสถานบริการต่างๆ รวมทั้งร้านอาหาร บุคลากรมีการใส่ถุงมือ จึงอยากจะแสดงความคิดเห็นดังนี้

ในฐานะที่อยู่ทางห้องปฏิบัติการมานาน การใส่ถุงมือจะเป็นการป้องกันตัวผู้ใส่ มากกว่าป้องกันผู้อื่น “ในทางปฏิบัติจะเน้นมากเพราะการใส่ถุงมือจะอยู่ในช่วงของการปฏิบัติการ และจะต้องมีการถอดออก และเปลี่ยนคู่ใหม่เมื่อไหร่จะกลับเข้าไปทำอีก การใส่ถุงมือห้ามจับต้องลูกบิดประตูหน้าต่าง” ผมเคยอยู่ทางห้องปฏิบัติการ การที่จะต้องไปเก็บตัวอย่างผู้ป่วย หรือการกระทำบางอย่างจะไม่ให้ใส่ถุงมือ เพราะคนที่ใส่ถุงมือคิดว่าตัวเองปลอดภัย และจะไม่คำนึงถึงผู้อื่น เอามือที่ใส่ถุงมือไปจับต้องสิ่งอื่น และจะทำให้ผู้อื่นไม่ปลอดภัย ถ้าไม่ใส่ถุงมือ จะมีการล้างมือบ่อยมาก เพื่อปกป้องตัวเอง และก็จะมีโอกาสปกป้องผู้อื่นไปด้วยในตัว

ใส่ถุงมือแล้วปฏิบัติงานตามร้านอาหาร บางคนใส่เป็นเวลานานมาก และเมื่อใส่ถุงมือแล้ว ความอยากที่จะไปล้างมือพร้อมถุงมือ เกิดขึ้นน้อยมาก ถุงมือที่ใช้ตลอดระยะเวลาไปจับต้องอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ จากโต๊ะหนึ่งไปสู่อีกโต๊ะหนึ่ง มีการสัมผัสทั้งวัน โดยโอกาสที่จะไปล้างพร้อมถุงมือ น้อยมากๆ

การใส่ถุงมือในห้างสรรพสินค้า ที่ให้ผู้รับบริการใส่ ใส่เสร็จแล้วทิ้งเลย หรือ ห้องอาหารตามโรงแรม ที่ให้ผู้เข้าไปใช้บริการ ใส่ถุงมือเพื่อตักอาหาร และเมื่อเสร็จแล้วทิ้งเลย จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันมากกว่า

“ดังนั้นการใส่ถุงมือร้านสถานบริการ ร้านอาหาร สำหรับผู้บริการ จะต้องมีการเปลี่ยน และล้างมือให้สะอาด การล้างมือมีความสำคัญมาก การใส่อยู่ตลอดเป็นเวลานานๆ อาจไม่เกิดประโยชน์ จะเป็นการแพร่กระจายเชื้อจากโต๊ะหนึ่งไปสู่โต๊ะหนึ่งด้วย การล้างมือบ่อยๆ จะเกิดประโยชน์มากกว่า การใส่ถุงมือแล้วไม่ได้ล้างมือ”

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Yong Poovorawan