เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้ชุมนุมหลากหลายเครือข่าย อาทิ คปท. กองทัพธรรม เครือข่ายนักศึกษาปฏิรูปประเทศ นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์  นายประสาร มฤคพิทักษ์ เดินทางมายังบริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอาคารห้องทำงานของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา พร้อมชูป้าย “ไล่สมศักดิ์ออกไป” และ “ศักดิ์ศรีแพทย์อย่าไปแลกกับนักการเมือง-” เป็นต้น จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังอาคารแพทยสภา เพื่อให้กำลังใจในการยืนยันมติแพทยสภาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ให้ลงโทษแพทย์จำนวน 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร จาก รพ.ราชทัณฑ์ ไปรักษาที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

นายพิชิต ไชยมงคล กล่าวว่า นายสมศักดิ์ กำลังเปลี่ยนความจริง เบี่ยงประเด็นทางสังคม ด้วยการวีโต้มติแพทยสภา นำมาสู่การที่แพทยสภาต้องประชุมกันในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เพื่อยืนยันมติเดิมหรือไม่ การขอเข้าร่วมการประชุมของนายสมศักดิ์ถือเป็นส่วนเกินของคณะกรรมการ และเป็นการผิดมารยาทของวงการแพทย์ เพราะนายสมศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับมติแพทยสภา แต่กลับจะเข้าไปนั่งในห้องประชุม มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากมองเป็นเจตนาไปกดดันต่อมติแพทยสภา ด้วยการเอาอำนาจการเมืองไปยุ่งเกี่ยวข้อเท็จจริงทางการแพทย์ โดยมารยาทแล้วแพทยสภาไม่ได้ปฏิเสธหากอยากเข้าไปนั่งในห้องประชุม แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ไม่มีเหตุที่รัฐมนตรีต้องเข้าไปนั่งในห้องประชุมนั้น

“พวกเราจึงเดินทางมาให้กำลังใจแพทยสภา โดยขอให้รัฐมนตรีปล่อยให้กระบวนการทางการแพทย์ที่มีวิทยาศาสตร์ เดินหน้าไปเพื่อความถูกต้องของประเทศไทย ไม่ควรใช้อิทธิพลทางการเมืองปกป้องนายใหญ่เพียงคนเดียวมาเปลี่ยนแปลงความบริสุทธิ์ของความจริงในวงการแพทย์ พวกเราขอให้แพทยสภาฉีดยาความจริงให้สังคมอีกครั้งในการยืนยันมติเดิมในวันที่ 8 พ.ค.” นายพิชิต กล่าว 

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ กล่าวว่า นายสมศักดิ์ คือต้นเหตุ จึงอยากมาสื่อสาร ส่งสัญญาณให้นายสมศักดิ์โดยเฉพาะ  ให้รู้ว่าปัจจุบันที่เป็น รมว.สาธารณสุข กำลังทำผิดจริยธรรมนักการเมือง จากการวีโต้มติแพทยสภาโดยไปอ้างว่ากฎหมายราชทัณฑ์สามารถนำตัวนายทักษิณออกไปได้ ซึ่งกฎหมายที่อ้างนั้นเป็น พ.ร.บ. สมัยที่นายสมศักดิ์ เป็นรมว.ยุติธรรม ได้ออกกฎหมายให้ขัดกฎหมายในตัวมันเอง ซึ่งจากเดิมมาตรา 6 ระบุการนำตัวนักโทษไปรักษานอกเรือนจำต้องขออำนาจศาลเท่านั้น แต่กลับใช้อำนาจฝ่ายบริหารไปออกกฎหมายก้าวล่วงอำนาจศาล ให้ไม่ต้องไปขออำนาจศาล โดยให้เป็นอำนาจราชทัณฑ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่มีส่วนไหนให้แพทยสภาต้องนำมาพิจารณาเพราะแพทยสภามี พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการพิจารณาว่าแพทย์ที่ทำการรักษานั้น ชอบด้วยวิชาชีพแพทย์หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับกฎหมายอื่น  

“คุณสมศักดิ์กำลังก้าวล่วงไปทำลายระบบการควบคุมวิชาชีพของแพทย์ จากเดิมที่ทำลายระบบยุติธรรมไปแล้ว ถ้าคุณสมศักดิ์ยังเดินในทางนี้ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ คุณสมศักดิ์เตรียมไปชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาล ได้เลย ผมร่างหนังสือไว้แล้ว จะบอกให้คุณสมศักดิ์รู้ว่าในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะทำอะไรทำไป วันนี้คุณก้าวล่วงอำนาจเกินอำนาจที่คุณมีอำนาจอยู่แล้ว กำลังทำผิดกฎหมายบางตัวอยู่ จึงมาเตือนให้คุณรู้ว่าอำนาจของคณะกรรมการแพทยสภามีอำนาจแค่ไหนที่ถูกต้อง หากไม่ถูก คนเดือดร้อนก็ไปร้องศาลปกครอง ไม่ใช่คุณสมศักดิ์ต้องมาปกป้องรักษานายตัวเอง” นายชาญชัย กล่าว และว่า ถ้าแน่จริงก็บอกนายทักษิณเอาเวชระเบียนออกมาชี้แจงต่อสังคม  

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ กล่าวว่า การลงมติแพทยสภาในวันที่ 12 มิ.ย. 2568 จะเป็นการลงมติประวัติศาสตร์ที่สังคมจะจารึกไว้นานเท่านาน การที่สภานายกพิเศษฯ วีโต้มติแพทยสภาที่ให้ลงโทษแพทย์ 3 คนไปนั้น ทำให้เกิดผล 2 อย่าง คือ 1.เส้นแบ่งชัดเจนระหว่างถูกกับผิด จริงกับเท็จ ส่วนตัวกับส่วนรวม ภักดีส่วนตัวกับผลประโยชน์ประเทศ 2.เป็นผลทดสอบภูมิต้านทานแพทยสภา ที่ลงมติไปแล้วยังยืนหยัด มั่นคงหรือไม่ ดังนั้นตนขอฝากแพทยสภาดำรงหลักความมั่นคง จริยธรรมในวิชาชีพเวชกรรม และจะไม่ไหวเอนไปตามแรงลมการเมืองใดๆ ส่วนที่ว่ามีแชตหลุด ซึ่งตนพยายามอ่านแล้ว ไม่มีอะไรมากเพียงแต่พูดถึงคนหนึ่งคนและมีอีกคนส่งสติกเกอร์ไลน์ตอบว่าเยส แล้วมีการพยายามหยิบมาเป็นน้ำหนักและเหตุผล ส่วนตัวเห็นว่าไร้สาระอย่างสิ้นเชิง ที่มีคำถามมาว่าแพทยสภาไม่มีจริยธรรม ก็อยากฝากถามว่าใครไม่มีจริยธรรม คนที่ออกมาพูดว่าแพทยสภานั้น ต้องทบทวนตัวเองเรื่องจริยธรรม

นายจตุพร กล่าวว่า ในอดีตกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงแรกที่ประกาศไม่ขึ้นกับนายกฯ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แพทย์แต่ละ รพ.ทั้งกระทรวง เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นแต่ละกระทรวงก็เรียงกันไปจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานสุดท้าย รัฐบาลสั่งใครไม่ได้แม้แต่คนเดียว สำหรับการวีโต้มติแพทยสภานั้น แค่ขอให้มีการวีโต้ เพราะรู้จักธรรมเนียมของพรรคการเมืองนี้ ถ้าไม่วีโต้ ถ้ากลับไปพรรคก็โดนอีโต้ แต่เพื่อแสดงให้สุด วันนี้ก็ไม่ได้มาห้าม ที่ท่านจะเข้าไปนั่งในแพทยสภาวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เข้าไปนั่งเลย ขอให้ตอนออกมาหน้าเกิน 2 นิ้วก็แล้วกัน เพราะอย่างไรก็รู้ว่ามันเปลี่ยนผลใดๆ ไม่ได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่าได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ประเพณีที่นั้นเขาชอบกันแบบนี้

“วิบากกรรมวันนี้กลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข ท่านเคยปลดแอกกับรัฐบาลที่ชั่วร้ายอย่างไร วันนี้ท่านควรจะเริ่มต้นอย่างเช่นในอดีต วันนี้อย่าห้ามรัฐมนตรี ยุเลย อย่าเปลี่ยนใจ พรุ่งนี้ไปนั่งร่วมประชุมในแพทยสภา และหลังจากนี้ขอให้ท่านโชคดี” นายจตุพร กล่าว