เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….ฉบับภาคประชาชนที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ก่อนลงมติวาระแรกวันที่ 17 พ.ย.เวลา 10.00 น.

โดยในช่วงแรก นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ชี้แจงหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ประเทศไทยเป็นผู้ป่วยร้ายแรง 3 โรค คือ 1.โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ 2.โรคเหลื่อมล้ำเรื้อรัง 3.โรคประชาธิปไตยหลอกลวง เป็นผลจากไวรัสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สิ่งที่อันตรายกว่าไวรัสตัวนี้คือ “ระบอบประยุทธ์” ที่มีรัฐธรรมนูญปี2560 ปกป้องอยู่ เพื่อสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์ มีกลไกต่างๆที่ควบคุมได้เบ็ดเสร็จจากส.ว. องค์กรอิสระ ช่วยผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะบริหารประเทศอย่างไร สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้ประเทศแข็งแรงผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฆ่าไวรัสพล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องมีรัฐธรรมนูญภาคประชาชน เป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 1ให้ประเทศไทย มีข้อเสนอ 4 ข้อคือ

(1) ยกเลิกส.ว.ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะส.ว.ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่มี ที่มายึดโยงจากประชาชน รัฐสภาดีที่สุดคือรัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา มีข้อดีคือช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่
ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่
และช่วยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติรวดเร็ว กระชับ

(2) เสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน การกำหนดแนวทางบริหารประเทศล่วงหน้า 20ปี ในสภาวะที่โลกมีความผันผวนเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือการไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะมีความผิด กำหนดให้ลงโทษรัฐบาลที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง ข้อเสนอเหล่านี้ไม่สุดโต่ง เป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย

(3) การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อหรือไม่ เพราะมีที่มาจาก คสช. องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนชี้ชะตานักการเมืองได้ ฝ่ายการเมืองอยากเข้ามาช่วงชิงองค์กรเหล่านี้ที่ให้คุณให้โทษได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนสนอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ไม่ใช่ให้ถอดถอนกันง่ายๆ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ต้องกังวลว่า ส.ส.จะครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ แต่ออกแบบให้มีการถ่วงดุล

(4) ล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ ดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหาร

“ถ้าคนทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี จะไม่มีใครคิดทำรัฐประหารประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบับประชาชน หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองรัฐประหาร หรือก่อวิกฤติการเมือง มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง รวมถึงคนทำรัฐประหารต้องถูกดำเนินคดี” นายปิยะบุตร กล่าว.