กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงในวงกว้างสำหรับ เมตาเวิร์ส (metaverse) หลังจากที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ประกาศรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อ บริษัท ใหม่ เป็น เมตา (Metaภายในงานประชุม Connect 2021

ขณะเดียวกันยังประกาศวิสัยทัศน์แบบก้องโลก ที่จะผลักดัน “เมตาเวิร์ส” สู่การใช้งานในชีวิตจริง ซึ่งเมตาเวิร์ส ถือเป็นยุคต่อไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยขยายประสบการณ์สู่รูปแบบ “สามมิติ” หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง และเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงหรือโลกดิจิทัลแก่ผู้อื่น ที่สามารถโต้ตอบ แบ่งปันและใช้พื้นที่เสมือนจริงร่วมกันได้ ผ่าน “อวาตาร์” ที่เป็นตัวแทนของเราในโลกเสมือน

หลังจากเมตาเวิร์ส ถูกจุดประเด็นขึ้น ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ ทั้ง “ไมโครซอฟท์” หรือบริษัทบันเทิง อย่าง “ดิสนีย์” ก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเชื่อมโยงโลกดิจิทัลให้ ใกล้ชิดกับคนมากยิ่งขึ้นในรูปแบบ “โลกเสมือนจริง” ผ่านเทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual reality) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงในโลกเสมือนจริง และเทคโนโลยี เออาร์ (Augmented reality) ที่เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกความเป็นจริง

ภาพจาก Meta (เฟซบุ๊ก)

“เมตาเวิร์ส” จึงกลายเป็นเรื่องใหม่ที่คนเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าในอนาคตข้างหน้าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเราไปอย่างไร?

สำหรับประเทศไทยแล้วในมุมมองของผู้ที่อยู่ในแวววงไอที มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร??

“บุญเลิศ นราไท”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เออาร์ไอพี บอกว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าในไทยคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเป็นที่นิยม เพราะในต่างประเทศบริษัทต่าง ๆ เพิ่งเริ่มให้ความสำคัญ ในการพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ ขณะเดียวกันการใช้งานต้องผ่านอุปกรณ์แว่นชมภาพเสมือนจริง หรือแว่นวีอาร์

แต่ จากข้อมูลล่าสุด…คนไทยมีแว่นวีอาร์เพื่อใช้งานประมาณ 3% จากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ส่วนใหญ่คนที่มีแว่นจะเป็นคนที่พัฒนาเรื่องเออาร์ และวีอาร์อยู่แล้ว ส่วนคนปกติอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ยังไม่มีใครลงทุนซื้อแว่นพวกนี้เพื่อใช้งาน คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแพร่หลายและได้รับความนิยม

บุญเลิศ นราไท

“มองว่าคนไทยเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ประเทศผู้พัฒนา คงต้องรอต่างประเทศพัฒนาและใช้งานได้ดีก่อน ซึ่งคงอีกสักพักใหญ่ ดูอย่างการใช้งานเฟซบุ๊ก ไทยเราก็ไม่ใช่ประเทศแรก ๆ ที่ใช้งาน ซึ่งผมมีเพื่อนอยู่ที่ญี่ปุ่น เปิดใช้งานเฟซบุ๊กก่อนไทย 1 ปี กว่าเฟซบุ๊กจะนิยมในไทยคือปี 2552 ขนาดที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ”

แล้วอะไร? ที่มีโอกาสทำให้ “เมตาเวิร์ส” ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

“บุญเลิศ” มองว่า จากการวิเคราะห์ เมตาเวิร์สน่าจะเป็นที่นิยมได้ หากสามารถพัฒนา “เซ็นเซอร์” ให้เผู้ใช้งานรับรู้และสัมผัสได้ เช่น เมื่อจับของในเมตาเวิร์สที่คล้ายโลกเสมือนจริง และทำใหผู้ใช้งานรับรู้เสมือนว่า จับสิ่งของนั้นจริง ๆ ส่วนขั้นต่อไป คือการพัฒนาให้สัมผัสเรื่องกลิ่นได้ แต่เป็นเรื่องยาก แต่ก็เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่อง Ready player one ของ “พ่อมดแห่งฮอลลีวูด” อย่าง “สตีเฟน สปีลเบิร์ก” น่าจะเป็นปลายทางของเรื่อง “เมตาเวิร์ส” ได้

ภาพจาก Meta (เฟซบุ๊ก)

หาก “เมตาเวิร์ส” กลายเป็นลมหายใจของทุกคน แล้วปัญหาด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ จะน่ากลัวหรือเปล่า?

ในมุมมองผู้ที่อยู่ในแวดวง“ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” อย่าง น.อ.อมร ชมเชย รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) บอกว่า โดยส่วนตัวมองว่า น่าเป็นห่วงมากกว่าเดิม ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของไซเบอร์ซีเคียวริตี้โดยตรงเพราะถึงตอนนั้นอาจมีกลไกลตรวจสอบที่เข้มแข็งตามมาในอนาคตหาก “เมตาเวิร์ส” ได้รับความนิยมมาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาเรื่อง โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) หรือเรียกว่า แก๊งแสร้งรักออนไลน์

ที่ปัจจุบันนี้…มีข่าวเป็นประจำอยู่แล้วที่มีผู้หญิงหรือผู้ชาย ไปหารูปคนหน้าตาดีในอินเทอร์เน็ตมาหลอก แล้วให้โอนเงิน ซึ่งพอเป็น “เมตาเวิร์ส” ยิ่งเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบคนที่อยู่เบื้องหลังอวาตาร์ ที่เราพุดคุยด้วย ที่เป็นสาวสวยหรือหนุ่มหล่อ จริง ๆ แล้วเป็นใครก็ไม่รู้ และในความที่ “เมตาเวิร์ส” ในอนาคตอาจมีความสมจริงมาก ๆ ซึ่งอาจไม่มีอะไรบ่งชี้ได้เลยว่าตัวจริงคือใคร??

 น.อ.อมร ชมเชย

ฉะนั้นปัญหาการล่อลวงในเชิงวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) จะยิ่งง่ายกว่าเดิม!!!

เพราะ…จากเดิมการหลอกลวงกัน!! จะใช้วิธีสร้างโปรไฟล์ปลอมและไล่หารูปของคนที่มีตัวตนจริงและเก็บไว้เป็น ชุดก่อน จากนั้นก็ส่งทยอยส่งไปหลอกเหยื่อ

แต่มาตอนนี้ที่เป็น “เมตาเวิร์ส” ที่สามารถสร้างอวตาร์ตัวเองแบบใด อย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ และมีเทคโนโลยีเอไอมาช่วยประกอบยิ่งทำให้เวลาที่ไปเจอคนที่เมตาเวิร์สหรือโลกเสมือนจริง จึงมีโอกาสถูกหลอกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้มีปัญหาตามมาทั้งเรื่องของ “โรแมนซ์สแกม” หรือการหลอกให้ไปลงทุนต่าง ๆ เป็นต้น

แต่อีกมุม เมื่อเกิด “เมตาเวิร์ส” ระบบป้องกันในอนาคตอาจถูกพัฒนาให้ดีขึ้นก็ได้มีระบบบล็อกเซนอาจช่วยให้เกิดแต่ในอีกมุมการแฮกน้อยลง และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอก็อาจช่วยในเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ได้

สุดท้ายแล้ว!! ก็เป็น “มนุษย์” ที่ใช้กระบวนการและวิธีในการหลอกให้รักหลอกให้หลง หลอกให้โลภ หลอกให้กลัว มาประกอบเป็นการหลอกในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะสมจริงมากกว่าเดิม!?! จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะเฉลียวใจฉุกคิด หรือ ตรวจสอบก่อน ในสิ่งที่เรามองเห็นหรือเชื่อถือ??

จึงเป็นประเด็นที่น่าห่วงในเรื่อง “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” เมื่อเรื่อง “เมตาเวิร์ส” จะมาในอนาคต!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์