เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมในร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับภาคประชาชน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า ดีใจที่ภาคประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ดีกว่าไปเสนอกันในโซเชียลมีเดีย หรือเดินไปบนท้องถนน แม้ประชาชนกว่า 1.35 แสนรายชื่อเสนอขอแก้ไข แต่ประชาชนกว่า 16 ล้านเสียงก็ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้มาเช่นกัน เราจำเป็นต้องยึดหลักที่ประชาชนให้มติมา

นายสมชาย กล่าวว่า อยากถาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า ที่อภิปรายเห็นชอบและรับหลักการวาระ 1 แต่กลับแก้ไขและรับหลักการประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100 แต่ท่านได้แก้ไขและรับหลักการบัตรใบเดียว เปลี่ยนเป็น ส.ส.เขต 350 ปาร์ตี้ลิสต์ 150 บัตรหนึ่งใบ ทำอย่างนี้ชอบหรือไม่ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ถ้ารับหลักการในวาระ 1 อาจจะเกิดปัญหาทางนิติวิธีมากมาย

“ขอติงเพื่อนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องมีความรับผิดชอบรัฐธรรมนูญที่ท่านเสนอ แก้ไข และร่วมเป็นกมธ.เอง ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะเป็นอะไรก็ได้ที่ตามใจชอบ ผมไม่ติดใจอะไรกับการตัดอำนาจ ส.ว. แต่เห็นว่ายังทำไม่รอบคอบ เพราะตัดโอกาสภาคประชาชนในการเลือกกันเองจากหลายกลุ่มสาขาอาชีพที่มาเลือกกันเองเป็น ส.ว. ที่มีในรัฐธรรมนูญปี 60 ถ้าอาจอยากแก้หมวด 1-2 เพราะ ส.ว. เป็นตัวขวาง ถ้าแก้ ส.ว. สำเร็จ ก็จะเหลือแค่ ส.ส. แล้วมาตราอื่นจะเป็นอย่างไรต่อ” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนการตั้งคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถามว่าโกรธเคืองอะไรนักหนา เหตุใดพุ่งเป้าไปศาลและองค์กรอิสระ แม้บอกว่าไม่ไปแทรกแซงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไปดูร่างที่เสนอแก้ไข เขียนไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการมีหน้าที่ศึกษาคำวินิจฉัยศาลได้ สิ่งนี้คือการวางธงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายชัดเจน เป็นการใช้อำนาจสุดโต่ง สุดกู่ สิ่งที่เสนอยังไกลเกินความจริงและเป็นไปไม่ได้.