สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ว่าบริษัทไฟเซอร์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ( เอฟดีเอ ) เพื่อขอให้มีการพิจารณาและขึ้นทะเบียนรับรองเป็นกรณีฉุกเฉิน ยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นชุดยาค็อกเทลรักษาโควิด-19 แบบรับประทาน ที่ไฟเซอร์พัฒนาและผลิตเอง และผลการทดสอบทางคลินิกบ่งชี้ว่า สามารถลดอัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ 89%
UPDATE: Today, Pfizer announced we are seeking Emergency Use Authorization (EUA) of our #COVID19 oral #antiviral treatment candidate from the @US_FDA. Learn more: https://t.co/106aix7zKj pic.twitter.com/NxHh0VW5JK
— Pfizer Inc. (@pfizer) November 16, 2021
ขณะเดียวกัน ไฟเซอร์ลงนามร่วมกับองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม ( เอ็มพีพี ) ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เพื่อให้บริษัทบางแห่งที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกัน ผลิตยาให้แก่ประเทศที่มีฐานะปานกลางลงไปจนถึงยากจน 95 ประเทศ และมีประชากรรวมกันคิดเป็น 53% ของโลก สามารถเข้าถึงสูตรยาแพกซ์โลวิด และกระบวนการผลิตทั้งหมด เพื่อนำไปดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์ยังมีเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าว กับประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังอยู่ในระดับวิกฤติ อาทิ บราซิล ที่อาจได้รับการคัดเลือก แต่บริษัทในบราซิลซึ่งได้รับสิทธิบัตร จะสามารถผลิตยาแพกซ์โลวิดได้เพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายและใช้งานภายในประเทศ
ความเคลื่อนไหวของไฟเซอร์คล้ายคลึงกับบริษัทเมอร์ค และพันธมิตร คือบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทอราพิวติกส์ ที่ร่วมกันผลิตยา “โมลนูพิราเวียร์” ให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รับประทานเพื่อรักษาอาการป่วย แต่เมอร์คจะใช้วิธีคัดเลือกผู้ที่สามารถเข้าถึงสิทธิบัตร “เป็นรายประเทศ”
ทั้งนี้ ราคาของยาแพกซ์โลวิดและยาโมลนูพิราเวียร์ “ใกล้เคียงกัน” โดย “ราคากลาง” ของประเทศร่ำรวยนั้น ยกตัวอย่างสหรัฐ ที่ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคา 700 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 ชุด ( ราว 22,925 บาท ) ซึ่งมี 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนยาแพกซ์โลวิดให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด โดยควรรับยาภายใน 3 วันแรกของการป่วย.
เครดิตภาพ : AP