เมื่อวันที่ 11 พย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายธีรวัฒน์ วีระวัฒน์ ทนายความ พานายเทพกานต์ คุ้มศีรษะ พร้อมภรรยา เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เจ้าของคดีลูกชายวัย 16 ปี ประสบอุบัติเหตุถูกรถสองแถวเฉี่ยวชนจนเสียชีวิต แต่พนักงานสอบสวนกลับแจ้งข้อหาคู่กรณี “กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย” ซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย และต่อมาพนักงานสอบสวนกับผู้บังคับบัญชายังร่วมกันมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ โดยมี พ.ต.อ.จีระเดช ชมบุญ รอง ผบก.ผอ. นายตำรวจเวรรักษาการเป็นผู้รับหนังสือไว้เสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป

นายเทพกานต์ เล่าว่า เหตุการณ์วันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 11.40 น. ลูกชายวัย 15 ปี ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไปบริเวณสี่แยกสี่แยกในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ปรากฏว่าได้ถูกรถสองแถวรับจ้างเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ล้ม และล้อทับศีรษะของลูกชายจนเสียชีวิต จากนั้นคู่กรณีได้ขับออกไปจากจุดเกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร เดินมาดูสถานการณ์ ก่อนจะหลบหนีไป แต่ภายหลังคู่กรณีพร้อมทนายความได้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยตำรวจได้แจ้งข้อหา กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ซึ่งข้อหาไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีการตั้งข้อหา “กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 แต่อย่างใด” ทั้งๆ ที่ขณะเกิดเหตุพยานบุคคลยืนยัน รวมทั้งยังพบพิรุธ ในการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดไม่ให้รับโทษ ซึ่งในการขอผลชันสูตรพลิกศพใหม่เป็นครั้งที่ 2 ให้แตกต่างจากโรงพยาบาลเดิม ที่มีผลชันสูตรว่าลูกชายของตนถูกล้อรถยนต์ทับศรีษะกะโหลกแตก อันเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” ต่อมาประมาณต้นเดือน พ.ย.2564 ตนได้รับหนังสือแจ้งผลการสอบสวน จากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม ว่าสั่งไม่ฟ้องคู่กรณีด้วย

ด้าน นายธีรวัฒน์ ทนายความ กล่าวว่า วันนี้มาร้องทุกข์ขอให้ ผบ.ตร. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้นสั่งย้ายพนักงานสอบสวนกับผู้บังคับบัญชาออกนอกพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ และขอให้จเรตำรวจแห่งชาติตั้งกรรมการสอบสวนวินัย อย่างร้ายแรงและดำเนินคดีอาญาในความผิดที่เกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนขอให้กองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าสอบสวนคดีนี้แทน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม.