เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยตกขบวนไม่ได้เป็น 1 ใน 95 ประเทศ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแพคโลวิด ของบริษัทไฟเซอร์ ว่า การพิจารณาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาให้ประเทศใดนั้นอยู่ที่บริษัทผู้ผลิตเอง เราทำอะไรไม่ได้ แต่มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมทางด้านยา และวัคซีนไว้รองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ค่อนข้างสมบูรณ์ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อได้ดี โดยเฉพาะการให้ในระยะแรกๆ จะช่วยลดระยะเวลาการรักษาให้สั้นลงได้

ทั้งนี้การซื้อยาโมนูลพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด เราก็มีการสั่งซื้อมาสำหรับกรณีคนที่มีความจำเป็น เข้ามาเป็นส่วนเสริม ไม่ได้เข้ามาเป็นยาตัวหลักแต่อย่างใด แต่เอามาเสริมความมั่นคง เป็นการอะเลิร์ทต่อสถานการณ์โควิด ที่สำคัญยาแพคโลวิดยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกบอย. ทราบว่ามีการกำลังจะได้ขึ้นทะเบียนกับอย.สหรัฐ กรณีมีคนวิพากษ์วิจารณ์เป็นความเชื่อมโยงเรื่องการเมืองหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะตนฟังจากหมอจริงๆ ที่ปฏิบัติงานจริงๆ ดูแลรักษาคนไข้ มีการศึกษาวิจัยอย่างแท้จริง รู้ว่ายาใด ขนาดยาแค่ไหน วัคซีนตัวไหนเหมาะสมมีประสิทธิภาพ อย่างล่าสุดได้รับรายงานจากอธิบกดีกรมควบคุมโรค (นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์) ว่าผลการศึกษาการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีมากกว่าที่คาดไว้ เรามีแต่ข้อมูลดีๆ เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด

เมื่อถามว่าเนื่องจากขณะนี้ยังมีบางประเทศที่อาจจะยังไม่ได้ยอมรับสูตรไขว้ของไทย ดังนั้นจะมีการพูดคุยหรือส่งข้อมูลเพื่อพิจารณาไม่ให้เป็นอุปสรรคการเดินทางหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศกันอยู่แล้ว มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานบันต่างๆ เมื่อมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็นำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดผลดีกับประชาชน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนวันนี้เราฉีดได้กว่า 70% ซึ่งเป็นระดับที่จะสร้างความปลอดภัยได้ แต่ก็ไม่ได้หยุดฉีดยังมีการเดินหน้าฉีด ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโด๊ส ในปีนี้ 100% อย่างไรก็ตาม ในส่วนแผนการฉีดที่เหลือจากนี้ไปจนถึงเป้าหมายนั้นคงไม่ได้จะไปออกมาตรการบังคับ หรือต้องไปสร้างแรงจูงใจอะไร แต่ใช้เรื่องของจิตสำนึกในการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง และความปลอดภัยให้กับสังคมโดยรวม ซึ่งเรื่องนี้สังคมก็จะเป็นคนกำหนดเอง เช่น หากคนที่ฉีดวัคซีนครบไปนั่งรับประทานอาหารในร้านค้าแห่งหนึ่ง แล้วมีคนไม่ฉีดวัคซีนไปใช้บริการด้วย ทางร้านอาจจะจัดที่นั่งให้เฉพาะ หรือเขาก็อาจจะปฏิเสธไม่ให้บริการ หรือแม้แต่การสมัครงาน จากนี้อาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับหรือไม่รับเข้าทำงานก็ได้

“วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราคบค้าสมาคมด้วยเกิดความสบายใจ ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่กระทรวงทำคือการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนมาฉีดวัคซีน และในส่วนของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง พื้นที่ห่างไกล เราก็มีการจัดรถโมบายไปฉีดให้ เรื่องการของจูงใจ หรือให้รางวัลเพื่อให้ฉีดวัคซีนคงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องแคร์ตัวเอง แคร์คนรอบข้าง การให้รางวัลตัวเองคือการฉีดวัคซีน” นายอนุทิน กล่าว

รองนายกฯ และรมว.สธ. กล่าวต่อว่า สำหรับเทศกาลลอยกระทงนี้ก็ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ไม่รวมกลุ่มใหญ่ ประกอบกับเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้วก็จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้มาก ซึ่งที่ผ่านมาคนที่ฉีดวัคซีนแล้วส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ไม่เสียชีวิต เทศกาลไม่ต้องเน้นเฮฮาก็ได้ แต่ยึดหลักการประเพณีคือการตั้งจิตอธิษฐานขอขมาต่อพระแม่คงคา และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต.