เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 1ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลักภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  โดยตนยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นธุระของรัฐบาลในการบริหารนโยบายให้สำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล เพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ในช่วงที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรเกิดความผันผวนซึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์แห่งอนาคตในช่วงเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2563

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุด ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกของประเทศไทย จนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่และภาคบริการเช่นการท่องเที่ยวมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ที่สำคัญ เงินประกันรายได้ที่เกษตรกรได้รับเกิดจากการทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินจากหยาดเหงื่อแรงกาย ไม่ใช่การแจกจ่ายแบบให้เปล่าหลายแสนล้านบาท เหมือนโครงการอื่นๆของรัฐ 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์  และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กำลังนำภาคเกษตรกรรมเข้าสู่มิติใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรอัจฉริยะแนวทางเกษตรแม่นยำที่ใช้บิ๊กดาต้าและดิจิทัลเทคโนโลยี  อีกทั้งเรากำลังเร่งปฏิรูปข้าวครบวงจรทั้งระบบ โดยวันนี้ เรากำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มเจ้าพระยา และเราตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์AIC) 77 จังหวัดคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการพัฒนา 12 พันธุ์ข้าวตอบโจทย์ตลาดในและต่างประเทศ