เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า สร.รฟท. ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ” โดย สร.รฟท.  ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และขอคัดค้านด้วยเหตุผลดังนี้ 1. ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการในการมาทำงานไป-กลับ จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการเดินทาง ซึ่งภารกิจหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ การให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพฯ และจากใจกลางตัวเมืองกลับไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยความสะดวก ปลอดภัย

สถานีหัวลำโพงเป็นจุดเริ่มต้น และปลายทาง ของขบวนรถไฟชานเมืองในเส้นทางต่างๆ ที่มีประชาชนหลากหลายอาชีพใช้บริการเดินทางเข้ามาทำงาน และเรียนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออก ใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และของ รฟท. หากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เห็นว่าจำเป็นต้องปิดสถานี และหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ควรสอบถามความเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการก่อนจะดีกว่าหรือไม่

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า 2.จากเหตุผลที่อ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากขบวนรถไฟเป็นปัญหาที่ทำให้รถติดนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ประชาชนที่เดินทางจำนวนมากจากทั่วประเทศได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้ามาในตัวเมืองชั้นใน แล้วทางรถไฟก็มีมาก่อนถนนในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด แล้วเหตุใดตอนสร้างถนนข้ามตัดผ่านทางรถไฟ ผู้เกี่ยวข้องไม่หาวิธีแก้ปัญหาจุดที่ถนนตัดผ่านกับทางรถไฟ และขอตั้งคำถามไปที่ รมว.คมนาคม ว่า หากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้ว บนท้องถนนในกรุงเทพฯ การจราจรจะไม่ติดขัดใช่หรือไม่ ถ้ายังมีปัญหาการจราจรอยู่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดพลาดในเรื่องนี้

3.พื้นที่ในบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องที่ใช้สำหรับการเดินรถ มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ การนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 6 ซึ่งหาก รมว.คมนาคม ต้องการหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของ รฟท. โดยจำเป็นต้องพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว ในแนวทางไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถไฟแต่อย่างใด เพราะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับการขนส่งสาธารณะทางรถไฟสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ อีกทั้งยังมีพื้นที่ มีทีดินว่างเปล่าของ รฟท. อีกหลายแปลงที่จะหาประโยชน์ และหารายได้ให้แก่ รฟท. ได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า คำถามคือ ทำไมไม่ทำ มีผู้มีอิทธิพลมากบารมี กี่รายที่หาประโยชน์เข้ากระเป๋าพวกพ้องของตนเอง และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้มีการทุจริตคอรัปชั่นตามมาได้ หรือว่าการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะเป็นขบวนการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การด้อยค่าความสำคัญโดยทำให้ภาพของการเป็นกิจการแห่งรถไฟสยามเลือนหายไป หากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นสถานีรถไฟได้อย่างไรกัน คงจะเหลือเพียงความเป็นหน่วยงานที่มีแต่หนี้สิน โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุผลที่มาของหนี้สินเหล่านั้นว่ามาได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ พร้อมกับการยกเหตุผล (ข้ออ้างลอยๆ) ขึ้นมาประกอบในการจะเอาที่ดินใจกลางเมือง 120 ไร่ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานไว้ เพื่อใช้ในกิจการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของ รฟท. ไปยกให้นายทุนเอกชนเช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความเจริญและความอยู่ดีกินดีของคนในชาติมามากกว่า 120 ปี ซึ่งประเมินค่ามิได้ คนที่คิดทำลาย คิดดีแล้วหรือ สมควรแล้วหรือ

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า สร.รฟท. ขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง และขอแจ้งให้สมาชิก สร.รฟท. คนรถไฟทุกคน รวมทั้งประชาชนผู้ที่รักความเป็นธรรม ในสังคมได้รับทราบ และได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นร่วมกันออกมาคัดค้านนโยบายของ รมว.คมนาคม ที่ให้ รฟท. หยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ซึ่งเป็นขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของ รฟท. เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์พระราชปณิธานของสมเด็จพระปิยมหาราชที่มีมาอย่างยาวนาน และทรงพระราชทาน “กิจการรถไฟ” ไว้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน.