พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ได้หารือกับคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาล รวมทั้งแนวทางของคณะทำงานในทุกๆมิติ ซึ่งคณะนักธุรกิจ ก็มีความพึงพอใจและพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าและระยะต่อไป ทั้งเรื่องการประกอบการและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการลงทุนใหม่ ๆ ให้เป็นไปตามวาระของโลก ทั้งการแก้ปัญหาโลกร้อน และนโยบายเศรษฐกิจบีซีจีโมเดล

สำหับการหารือครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ในรูปแบบ Next Normal และการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมขอให้ภาคเอกชนสหรัฐ ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป

นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบปะกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนสมาชิกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 400 คน โอกาสนี้ ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยอย่างดี

สำหรับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านด้วยแนวคิด BCG ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรวมถึงภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนความต่อเนื่องในการผลักดันประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ในการส่งต่อวาระเจ้าภาพจากไทยไปสู่สหรัฐ ในปี 2566 ต่อไป