กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการดำเนินการด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดินภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ

ภายในปี 2580 ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศให้ได้ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 48.52 ล้านไร่ พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ เพื่อใช้ศักยภาพของป่าไม้ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันในปีดังกล่าว

ข่าวที่ชาวบ้านไม่ทนกลิ่นเหม็นดอกต้นพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด ขอตัดทิ้ง จน กรมป่าไม้ ออกมาขอร้อง อย่าโค่นทิ้ง ให้อดทนเพราะกลิ่นเหม็นจะอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ ให้คิดถึงประโยชน์ที่ผ่านมาของตีนเป็ด ที่ทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็น 100 ตัน และถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ กรมป่าไม้ มีทีมรุกขกรไปตัดแต่งและขุดล้อมย้ายต้นไม้ออกจากพื้นที่

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่าหลังจากมีข่าวออกไป มีประชาชนโทรศัพท์แจ้งมาที่กรมป่าไม้ เพื่อใช้บริการขุดล้อมต้นตีนเป็ดออกจากพื้นที่ เฉลี่ยวันละประมาณ 10 ราย เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ก่อนโดยให้คำแนะนำในการลดปัญหากลิ่น ทั้งการตัดกิ่งก่อนที่จะออกดอกโดยทีมรุกขกรของกรมป่าไม้จะเข้าไปดำเนินการให้ แต่ถ้าชาวบ้านยืนยันว่าไม่ต้องการต้นตีนเป็ดแล้ว ขอให้ส่งรูปและพิกัดที่อยู่ กรมป่าไม้จะทำหน้าที่ประสานให้ภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไปขุดล้อมต้นไม้ ต้องยอมรับว่าทีมรุกขกรของกรมป่าไม้ ไม่มีหน้าที่ขุดล้อมต้นไม้ ไม่มีอุปกรณ์ไปย้ายต้นไม้ให้ได้ แต่จะทำหน้าที่ประสานให้ภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปทำหน้าที่ขุดล้อมต้นไม้ ซึ่งมีอยู่ใน จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครนายก ออกจากพื้นที่ให้ โดยต้นไม้นั้นเป็นสิทธิของเอกชน ที่จะนำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้มีแผนที่จะเพิ่มบทบาทของรุกขกรให้สามารถขุดล้อมต้นไม้ขึ้นมา พร้อมจัดซื้อเครื่องมือ ปัจจุบันทีมรุกขกรกรมป่าไม้ หน้าที่หลักคือฝึกอบรมให้คนมีความรู้ดูแลต้นไม้โดยเฉพาะบุคลากรของรัฐ ที่ต้องดูแลต้นไม้ในพื้นที่

“ภารกิจหลักของเราเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มคาร์บอนเครดิต พี่น้องชาวตีนเป็ดจะถูกประหัตประหาร ในฐานะโฆษกของกรมป่าไม้จึงต้องแสดงออกไม่เห็นด้วยที่ต้องตัดทิ้ง เราต้องคิดว่าต้นไม้มีบุญคุณวันนี้เราต้องเซฟตีนเป็ด ควรขุดล้อมเขาไปดีกว่า ไปไว้ในป่าหรือที่ตรงไหนเพื่อทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน อันเป็นประโยชน์ของประเทศเราอยู่แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในการประชุมคอป 26 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว”

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า อยากให้ใช้กรณีของการเซฟตีนเป็ดเข้าไปดูแลต้นไม้อื่น ๆ ด้วย ชวนคิดว่าการตัดต้นไม้หนึ่งต้น คุณใช้หนี้ต้นไม้ไปแล้วเท่าไร เพราะทุกวันนี้คาร์บอนเครดิตคำนวณออกมาเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินได้ นำจำนวนเงินเป็นค่าจ่ายในการขุดล้อมต้นไม้ ยกตัวอย่างเช่นต้นตีนเป็ดปลูกมาแล้ว 20 ปี คำนวณคาร์บอนเครดิตแล้ว 1,700 บาท นำเงินตรงนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายขุดล้อม ซึ่งกรมป่าไม้กำลังตั้งทีมเพื่อมาคำนวณตรงนี้ให้ และจะสร้างกติกาใหม่ในสังคม ก่อนตัดต้องหักลบกลบหนี้กันก่อน ตั้งเป็นกลุ่มเป็นกองทุน หรือระดมทุนบริจาคเพื่อย้ายต้นไม้ รวมทั้งมีการติดตามดูแลต้นไม้ที่ย้ายไป ไม่ควรจะมีการประหารต้นไม้อีกแล้ว หรือหน่วยงานรัฐ เช่นกรมทางหลวงจะขยายถนน ควรตั้งงบประมาณเพื่อขุดล้อมย้ายต้นไม้ออกจากพื้นที่ด้วย นโยบายทำไม้สองข้างทางที่ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ต้องไม่มีแล้ว แต่ควรย้ายต้นไม้ออกไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม รวมทั้งหน่วยงานอื่นด้วยที่ต้องย้ายต้นไม้ให้ทีมรุกขกรเข้าไปจัดการ

รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีนักจัดสวนนำต้นตีนเป็ดมาใช้ เช่นปลูกหน้าโครงการหมู่บ้านจัดสรร ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ ในสวนสาธารณะ แต่เมื่อ 10 ปีก่อน เราไม่มีปัญหากลิ่นเหม็น ทั้งนี้ต้นตีนเป็ดเป็นไม้ที่มีฟอร์มต้นสวย เจริญเติบโตเร็ว และมีความเป็นมงคล แท้จริงแล้วตีนเป็ดเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติทางยาเป็นจำนวนมาก เมื่ออยู่ในป่าจะเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งปริมาณมากเป็นที่รุมตอมของฝูงผึ้ง เพราะจำนวนช่อดอกมีเกสรมากเช่นกัน ตีนเป็ดออกดอกเมื่อเข้าใกล้ฤดูหนาว ความชื้นในดินต่ำ ถือว่าเป็นสัญชาตญาณต้นไม้จะรู้สึกว่าตัวเองจะตายจึงต้องผลิดอก เพื่อปรับตัวต่อพันธุ์ ดังนั้นคำแนะนำคือใช้น้ำรดโคนต้น หลอกต้นไม้ว่าไม่ใช่ฤดูแล้ง จะลดการออกดอกของต้นตีนเป็ดให้น้อยลง อย่างไรก็ตามต้นตีนเป็ดถือเป็นไม้หวงห้ามอยู่ในบัญชีของไม้หวงห้าม 150 ชนิด จัดอยู่ในกลุ่มไม้ป่า เมื่อมีอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ หรือหน่วยงานราชการ ก่อนตัดต้องขออนุญาตกรมป่าไม้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้าน ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า ทีมรุกขกรของกรมป่าไม้เกิดขึ้นมา 5 ปีแล้วจากดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กรมป่าไม้ตั้งขึ้นมา ภารกิจในการเริ่มต้น คือเข้าไปดูแล ต้นไม้ทรงปลูกทั่วประเทศ และภารกิจอบรมรุกขกรในหน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาต้นไม้ รวมถึงดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญ ขณะนี้มีด้วยกัน 28 ทีม กระจายอยู่ในสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการป่าไม้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งกระบวนการเข้าไปตัดแต่งต้นไม้ 1 ต้นจะใช้รุกขกรประมาณ 5 คน อย่างไรก็ตามทีมรุกขกรของกรมป่าไม้ ได้เข้าไปอบรมให้ กทม.ในการดูแลต้นไม้ในเมือง เพราะที่ผ่านมามีการตัดแต่งกิ่งไม่ถูกต้อง ประกอบกับการเริ่มต้นจากเลือกไม้มาปลูกไม่เหมาะกับสถานที่ เช่น มะฮอกกานี นนทรี เป็นต้น เติบโตเป็น 10 เมตรเท่าระดับเสาไฟ ทำให้เป็นปัญหาในการดูแล ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้เมื่อปลูกต้นไม้ครั้งใหม่ควรเลือกต้นไม้ที่เหมาะสม เช่น พิกุล ทองอุไร ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ เหมาะกับพื้นที่ริมถนนมากกว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะนำเสาไฟฟ้าลงดิน ปัญหาต้นไม้รบกวนสายไฟฟ้าจะหมดลงไป

นอกจากนี้จังหวัดตรัง ได้ใช้ทีมรุกขกรของกรมป่าไม้เข้าไปอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลไม้ทรงปลูกทั้งจังหวัด 23 ต้น และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมให้คนสวนมีความรู้ด้านรุกขกร ทางมหาวิทยาลัยลงทุนซื้ออุปกรณ์ในการปีนต้นไม้เพื่อความปลอดภัย ซื้อเลื่อยให้ ทำให้เกิดอาชีพใหม่เกิดการจ้างงาน สามารถนำความรู้ไปดูแลตัดแต่งกิ่งกับบ้านเรือนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้ด้วย เช่นเดียวกับหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่น อบต.ที่ต้องการความรู้การดูแลต้นไม้สามารถประสานมาได้ที่กรมป่าไม้

อุปกรณ์สำคัญของทีมรุกขกรคือเชือกและสลิงในการยึดโยงเพื่อความปลอดภัย เลื่อยต่าง ๆ รวมทั้งการอบรมการปีนต้นไม้ จะไม่ใช้รถกระเช้าเหมือนที่หน่วยงานท้องถิ่นมี เพราะเข้าพื้นที่ลำบาก ซึ่งการลงทุนซื้อเครื่องมือใช้งบประมาณหลักแสน แต่การอบรมให้คนมีความรู้เรื่องต้นไม้ การตัดกิ่ง หรือการใส่ปุ๋ยต้นไม้ รวมทั้งเทคนิคการปีนต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญ

ภาพของทีมรุกขกรลงตัดแต่งกิ่งต้นยางนากับอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย “ต้นยางนา” บริเวณริมถนนสายเชียงใหม่ลำพูน หลังจากโค่นล้มทับบ้านเรือน เนื่องจากลมพายุฝนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำว่าขณะนี้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลต้นไม้ใหญ่

ดร.คงศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจระยะทางประมาณ 10 กม.มีต้นยางประมาณ 1,000 ต้น หักโค่นจากพายุประมาณ 10 ต้น ต้นไม้ตรงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่บรรพบุรุษได้เห็นคุณค่าการปลูกต้นไม้มาเมื่อ 100 ปีที่แล้วถือเป็นความภาคภูมิใจเพราะ ไม่มีใครคิดปลูกต้นไม้ใหญ่ริมทาง และทำให้เห็นว่าเราสามารถปลูกไม้ให้มีขนาดใหญ่ได้ โดยไม่ต้องรอจากธรรมชาติอย่างเดียว อย่างไรก็ตามต้นยางนาถูกรบกวนจากการตัดถนนที่มาชิด เพราะเดิมปลูกห่างถนน 10 กว่าเมตรถือว่ากว้างมาก เมื่อขยายถนนไปทำให้ถนนไปทับราก และปล่อยให้ต้นไม้สูงโดยที่ไม่ได้รับการตัดแต่ง

นอกจากนี้ยังมีต้นยางนาใหม่ที่ปลูกขึ้นมา 30 ปี สูง 30 เมตรแล้ว ซึ่งต้นใหม่ต้องตัดแต่งทรงพุ่มเรือนยอด ลดระดับลงมาให้ระดับที่สูงไม่เกิน 20 เมตร ถ้าปล่อยไว้ต้นไม้จะสูงขึ้น สุดท้ายจะเกิดปัญหาลมพัดต้นไม้ล้ม ส่วนต้นเก่าอายุ 100 ปีมีปัญหาเรื่องราก กิ่งไม่มีความสมดุล ด้านที่อยู่ชิดพื้นที่ถนนมีกิ่งน้อยเพราะมีการตัดออก กิ่งที่อยู่อีกด้านจะยื่นแผ่ไปรับแสงขยายพื้นที่ออกไปจำนวนมาก รากที่อยู่บนถนนถูกทำลาย ต้นยางนาจึงมีสภาพเหมือนคนยืนขาข้างเดียว รวมทั้งวิธีการใส่ปุ๋ยโคนต้น จึงมีรากฝอยกินอาหารที่โคนต้นอย่างเดียว ส่งผลให้มีใบแน่นหนาเรือนยอด ทำให้ลมผ่านยาก เมื่อลมพัดมาจึงล้มลงได้

…ทีมรุกขกรตรวจอาการป่วยของต้นยางนาที่จะต้องหาวิธีการรักษาต่อไป ย้ำให้เห็นว่าการปลูกต้นไม้ต้องดูแลเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต…

ต้นไม้ตรงนี้ควรอยู่คู่ถนนเส้นนี้ต่อไปบรรพบุรุษจะได้ภูมิใจว่าสิ่งที่สร้างไว้ไม่เป็นภาระต่อลูกหลาน ผมให้หลักคิดว่า คนที่จะดูแลพื้นที่ได้ดีที่สุดคือคนเชียงใหม่ ถนนเส้นนี้ อบจ.เชียงใหม่เป็นเจ้าของ ได้พูดคุย อนาคตจะพัฒนาเป็นถนนวัฒนธรรม อาจจะจำกัดรถให้น้อยลง ขยายพื้นที่เพื่อรากให้ฟื้นฟูได้น้อยลง” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้านการจัดการป่าไม้ เล่าถึงแนวคิดที่ฝากไว้ให้ผู้ดูแลถนน

ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามแนวคิดตัดต้นไม้ไม่เสียใจ ไม่เสียดายได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์ กระแสเซฟตีนเป็ดในวันนี้ จะช่วยจุดประกายให้คนไทยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้ทุกต้น.