นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดภายหลัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร อดีตฝ่ายเสนาธิการ รมว.กลาโหม และนายอนุมัติ อาหมัดได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ว. ทำให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ที่มีรายชื่อในบัญชีสำรองลำดับที่ 8 มีสิทธิเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งโดยอัตโนมัติ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ใช้เวลาไม่นานตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ เลขาธิการ กกต.ที่มีอำนาจ สืบสวน สอบสวนให้คุณ ให้โทษพรรคการเมือง เพื่อไปรับบทบาท 1 ใน 250 ส.ว. ยกมือผ่านกฎหมายในสภาสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบลงลึกไปในรายละเอียด

(1) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้ เลขาธิการ กกต. มีวาระดำรงตําแหน่ง 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กกต. วันที่ 17 พ.ค. 2561 เท่ากับครบวาระ 5 ปี วันที่ 16 พ.ค. 2566

(2) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (4) กำหนดให้วุฒิสภา มีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งวุฒิสภาชุดปัจจุบันเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 เท่ากับ ครบวาระ 5 ปีวันที่ 13 พ.ค. 2567

ดังนั้นการตัดสินใจทิ้งเก้าอี้เลขาธิการ กกต.เพื่อไปรับหน้าที่ ส.ว.จะทำให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ มีบทบาททางการเมืองได้นานกว่าเดิม 1 ปี แต่ไม่มีอำนาจเต็มสองมือ บังคับบัญชากำลังคนนับพันชีวิต เหมือนตำแหน่งเลขาธิการ กกต.

ในมุมหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นภาพ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ รู้ดีสมรภูมิการเมืองนับจากนี้และต่อเนื่องไปถึงการเลือกต้ังใหญ่ภายหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบวาระต้นปี 2566 จะมีความร้อนแรงทั้งในและนอกสภา

ฝ่ายต่างๆ จะใช้ช่องกฎหมายยื่นเรื่องร้องเรียนอาศัยมือสำนักงาน กกต., เลขาธิการ กกต. และ 5 เสือ กกต. เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ รู้ดีถึงพายุลูกใหญ่ที่กำลังพัดเข้ามาจึงตัดช่องน้อยแต่พอตัวเข้าไปหลบอยู่ในเซฟโซน (Safe Zone) ไม่ขอเป็น “หนังหน้าไฟ” ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง เสี่ยงถูกฟ้องร้อง ตามเช็กบิลย้อนหลังเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หมดอำนาจ

สุ่มเสี่ยงถึงขั้นติดคุก ติดตะราง ในสงครามแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เข้าทำนองเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง แต่ต้องเอากระดูกมาแขวนคอ!