วันที่ 21 พ.ย. คณะกรรมการหอการค้าไทย ได้จัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นหอการค้าทั่วประเทศ เพื่อสรุปรายละเอียดและข้อเสนอแนะทำเป็นสมุดปกขาวยื่นไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยหอการค้าไทย มุ่งหวังจะทำงานเชื่อมโยงกับรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในทุกมิติ พร้อมทั้ง ร่วมกันออกแบบอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย ให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกันในอนาคต ตามแนวคิด “Connect The Dots” เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาฟื้นตัว เปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว และสร้างอนาคตประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับคณะกรรมการหอการค้าไทย วาระประจำปี 2564-2565 ได้กำหนดนโยบาย Connect the Dots ซึ่งหอการค้าไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยผ่านการขับเคลื่อนผ่าน 3 Value Chain ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน 2) เกษตรและอาหาร และ 3) การท่องเที่ยวและบริการ

พร้อมทั้ง ยึดแนวทางที่หอการค้าไทยเคยดำเนินงานมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน 99 วันแรก” เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น แก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งการจ้างงานและปัญหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดนั้น หอการค้าไทย ได้จัดลำดับความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สำหรับดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใน 99 วันแรกของการทำงานของคณะกรรมการหอการค้าไทย โดยมี 3 ภารกิจสำคัญ คือ 1)เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ 2)เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3)แก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวก

การประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ได้ตั้งกรอบการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างยั่งยืน ให้สอดรับกับการก้าวไปข้างหน้าของประเทศและผู้ประกอบการ ซึ่งในปีนี้ หอการค้าไทย ได้ให้ความสำคัญกับ การรวมพลัง สร้างสรรค์ อนาคต ภายใต้กรอบสัมมนา “Connect The Dots Design The Future” ซึ่งเป็นความตั้งใจของภาคเอกชน ที่จะรวมพลังกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า

โดยได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 เพื่อสรุปรวบรวมเป็นแนวทางและออกแบบภาพอนาคตของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 เรื่อง “CONNECT หอการค้า 5 ภาค เดินหน้าฝ่าวิกฤติเพื่อพลิกเศรษฐกิจไทย”

หอการค้าไทย ได้ดำเนินการจัดเสวนาระดมความคิดเห็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั้ง 5 ภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกหอการค้าทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงมุมมองต่อการพัฒนาประเทศ นำมาบูรณาและสามารถนำแผนงานมาดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภาค และ Strategic Move ให้มีบริบทสอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยสามารถกำหนดโครงการที่สำคัญเร่งด่วนต่อการยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค ดังนี้

ภาคใต้

-โครงการ ANDAMAN ECONOMIC TOURLISIM (เขตเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวอันดามัน)

-โครงการ ANDAMAN GO GREEN

-สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 (พ.ศ. 2568)

-สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 ณ จังหวัดภูเก็ต

ภาคตะวันออก

-โครงการพัฒนา SMEs ให้สามารถขายสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านช่องทาง Cross Border e-Commerce (CBEC)

-โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor :EFC) และพัฒนาโครงการต่อเนื่องกับโครงการมหานครผลไม้

-เร่งรัดการก่อสร้างถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ระยะที่ 2

-เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตสินค้าเกษตร โดยการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ หรือการทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming)

-สร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ SMEs ในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

-โครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม (จ.ระยอง)

ภาคกลาง

-ยกระดับเกษตรแนวใหม่มูลค่าสูงทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) โดยการสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ (ปวช – ป ตรี, Short Course) / จัดตั้ง Value Creation Trader และ ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

-เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟจีน-สปป.ลาว

ภาคเหนือ

-เสริมสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน และ SMEs (ยกระดับมาตรฐาน)

-โครงการนำร่องเปิดด่านการค้าชายแดนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน / ไทย-จีน และ ไทย-อินเดีย

ทั้งนี้ จากการเสวนาฯ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดย 3 อันดับแรกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด ได้แก่ 1) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 2) การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และ 3) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหอการค้าไทย และเครือข่าย จะนำประเด็นที่ได้ไปขับเคลื่อน connect กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เรื่องที่ 2 เรื่อง “CONNECT SMEs ไทย ด้วย Digital Transformation”

หอการค้าไทย ได้จัดเสวนา เรื่อง “CONNECT SMEs ไทย ด้วย Digital Transformation” โดยมี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ เพื่อนำมาขับเคลื่อนและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ไทยด้วยเครื่องมือ Digital Transformation ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs โดยปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวน SMEs จำนวน 3,134,442 ราย สร้างการจ้างงาน 12 ล้านคน และสร้าง GDP คิดเป็น 5.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ดี SMEs ของไทยยังประสบปัญหาขาดศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันหลายด้าน อาทิ ขาดเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล หนี้สินมาก ผลิตภาพต่ำ มีการส่งออกน้อย และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ทั้งนี้ จากการเสวนามีข้อเสนอต่อการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ด้วย Digital Transformation ดังนี้

1) ขับเคลื่อน Thailand Trade Platform ในการช่วยเหลือ SMEs โดยเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้เทคโนโลยี ให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างทั่วถึง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

2) ปรับกฎหมายและระเบียบการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สามารถดูแลงบบูรณาการของ SMEs เพื่อช่วยขับเคลื่อนแผนส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ

เรื่องที่ 3 เรื่อง “โอกาสและทิศทางอนาคตประเทศไทยจากมุมมองของคนรุ่นใหม่”

หอการค้าไทย ร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเครือข่าย จัดเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและทิศทางอนาคตประเทศไทยจากมุมมองของคนรุ่นใหม่” เน้นการเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และใช้แนวทาง Design Thinking โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วยทำหน้าที่ระดมความเห็นจากคนรุ่นใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งได้ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ดังนี้

1) ด้าน Product & Service for the Future การพัฒนาสินค้าและบริการ เน้นการเพิ่มมูลค่า การพัฒนาผู้ประกอบการของประเทศ และการออกแบบพัฒนา Digital Platform เพื่ออำนวยความสะดวกในอนาคต

2) ด้าน People for the Future การมองทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ควรจะต้องมีการเตรียมวางแผนการพัฒนา ทั้งในเรื่องการศึกษา การพัฒนาความสามารถ Reskill, Upskill รวมถึง Learn Unlearn Relearn การพัฒนาบุคลากรในองค์กร การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวีต (Life-Long Learning) รวมถึงการพัฒนามนุษย์ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

3) ด้านการ Connect to the World เพราะการเชื่อมโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ผ่านสิ่งที่เรามี เช่น การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ บริการ วัฒนธรรม รวมทั้ง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตและก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

4) ด้าน Social Issues in the Future จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การกระจายรายได้ ความยากจนข้ามรุ่น และความคุ้มครองทางสังคม

5) ด้าน Our Planet in the Future การพัฒนาเศรษฐกิจ ความเจริญปัจจุบัน จะต้องมีการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป