เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 สายพันธุ์ “โอโมครอน” เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้นเบื้องต้น ว่า ข้อมูลเบื้องต้นในทางระบาดวิทยาเรื่องความสามารถในการแพร่กระจาย ความสามารถในการหลบเลี่ยงวัคซีน และความรุนแรงของโรคยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม จากการติดตามใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูล ประเทศไทยจึงวางมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยแบ่งเป็น เรื่องการเดินทาง 1. ในกลุ่ม 8 ประเทศที่พบเชื้อโอไมครอน เดินทางเข้าประเทศไทย คือ บอตสวานา/อีสวาตินี/เลโซโท/มาลาวี/โมซัมบิก/นามิเบีย/แอฟริกาใต้/ซิมบับเว 2. ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศดังกล่าว

ส่วนมาตรการดำเนินการคือ ประการแรก ใน 8 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่มีการพบสายพันธุ์นี้ ระบาดในประเทศตนเอง คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศแล้วให้สั่งกักตัวจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประการที่สองไม่อนุญาตให้คนที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศนี้เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 รวมถึงไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าสู่ราชอาณาจักรโดยระบบต่างๆ ตั้งแต่ 27 พ.ย.เป็นต้นไป แปลง่ายๆ คือคนที่เดินทางเข้าประเทศไทย

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในทวีปแอฟริกา แต่นอกเหนือจาก 8 ประเทศที่มีการระบาดนั้น จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test & Go ระบบ Sandbox ส่วนคนที่เข้ามาแล้ว ต้องอยู่ในสถานที่พักที่ราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องตรวจ แล็บ 3 ครั้ง คือแรก วันที่ 5-6 และวันที่ 12-13 โดยสรุปคือไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยในระบบต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติขณะนี้ได้แจ้งไปยังกระทรวงต่างประเทศแล้ว ส่วนคนที่เข้ามาแล้วให้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้รับอนุญาตแล้วถึงวันที่ 15 ธ.ค. แต่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน

ทั้งนี้คนที่มาจากแอฟริกาตอนใต้โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาด มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ผ่านระบบต่างๆ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ประกอบด้วย บอตสวานา 3 ราย นามิเบีย 16 ราย แองโกลา 22 ราย มาดากัสการ์ 7 ราย มอริเชียส 27 ราย แซมเบีย 5 ราย อีสวาตินี 39 ราย เอธิโอเปีย 45 ราย โมซัมบิก 12 ราย มาลาวี 2 ราย แอฟริกาใต้ 826 ราย และซิมบับเว 3 ราย ทั้งนี้ตรวจไม่พบเชื้อโควิด อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ดำเนินการใกล้ชิด

นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้เราต้องประเมินสถานการณ์กันเป็นรายวันเพื่อให้มีการปรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม กรณีการเดินทางมาทางอากาศนั้นไม่น่ากังวลนักเพราะในจำนวน 63 ประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยนั้นไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ แต่ที่ยังน่าห่วงคือการเข้าประเทศทางบกโดยเฉพาะตะเข็บชายแดน เราจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ จับสัญญาณการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่า ศบค.เพิ่งอนุญาตให้เปิดการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางเรือ และทางบกเพิ่มเติมดังนั้นจะต้องมีการทบทวนประเด็นนี้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า อันดับแรกประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามานั้นไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาก็ยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว ประกอบกับมาตรการตรวจคัดกรองเข้มข้นในผู้เดินทางซึ่งต้องมีการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจ RT-PCR ทั้งลำ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่การเปิดเข้ามาในประเทศผ่านทางบกนั้น ก็นำร่องเพียงแห่งเดียวคือที่หนองคาย จึงยังไม่มีการทบทวนในส่วนนี้แต่ก็ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด  

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้คือนอกจากการป้องกันแล้ว วัคซีนก็สำคัญ ซึ่งทวีปแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะร่วมมือกันให้ประเทศไทยปลอดภัย มั่งคงยิ่งขึ้น หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าท่านไม่มีข้อห้ามในการฉีดก็ขอให้มาฉีด ส่วนคนที่ฉีดแล้ว 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ในระดับที่ดีมากประมาณ 5-6 เดือน ดังนั้นคนที่ฉีดครบแล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรใดๆ รอฟังประกาศ สธ. ว่าจะมีการฉีดบูสเตอร์โด๊สให้แล้วเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูง ลดอาการหนัก แลเสียชีวิต วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่ง แต่มาตรการที่จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นคือป้องกันตัวเองครอบจักวาลคือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นของสถานประกอบการต่าง.