เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง สถานการณ์โลกกับความจริง – ความต้องการของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,148 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.8 รับรู้ถึง ผลกระทบจากวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศทั่วโลก ร้อยละ 81.4 ระบุวิกฤติโควิด และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการว่างงาน ร้อยละ 82.9 ระบุ วิกฤติโควิด และภัยพิบัติน้ำท่วมในไทย ส่งผลรายได้ลดลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.1 ระบุ วิกฤติโควิด ภัยพิบัติน้ำท่วม และวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ความสุขลดลง มีผลต่อ สุขภาพจิต และร้อยละ 79.1 ระบุ วิกฤติโควิด และ วิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้พัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการเปรียบเทียบอัตราการว่างงานระหว่างประเทศไทย กับ ต่างชาติ โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ธนาคารโลก กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่าง ๆ เป็นต้น พบว่า อัตราการว่างงานของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 2.25 เปรียบเทียบกับประเทศกัมพูชา ร้อยละ 0.31 ลาว ร้อยละ 1.0 พม่า ร้อยละ 1.79 อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.49 จีน ร้อยละ 4.9 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.6 มาเลเซีย ร้อยละ 4.5 และเยอรมนี ร้อยละ 3.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 19.2 ไม่ต้องการ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ความต้องการอื่น ๆ ของประชาชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้อง ได้แก่ ต้องการให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้ ร้อยละ 81.3 ต้องการให้มีมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง การประกันรายได้เกษตรกร พืชผลการเกษตร ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น ร้อยละ 81.0 ต้องการให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 80.2 ต้องการให้ใช้โอกาสนี้พัฒนาทักษะของผู้ว่างงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอนาคต ร้อยละ 78.6 และต้องการให้มีการปรับมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มกับงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ร้อยละ 77.4 ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอัตราการว่างงานของประชาชนคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศทั่วโลกจะพบว่าอยู่ในอัตราต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าการมีงานทำของคนไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและยังสามารถควบคุมผลกระทบจากวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาได้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาล เร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านอินเทอร์เน็ตและออนไลน์อื่นๆ ใส่เสริมให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีเสถียรภาพความปลอดภัยในไซเบอร์ (Cyber Security) เอื้อต่อการประกอบสัมมาอาชีพ การมีงานทำที่สุจริตของประชาชน และการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา โดยผลการศึกษาครั้งนี้พบ เป็นความต้องการอันดับแรก ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการต่อเนื่อง สนับสนุนด้านรายได้และลดรายจ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง การประกันรายได้เกษตรกร พืชผลทางการเกษตร ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น

“ถ้าหากในช่วงเวลานี้ ยิ่งรัฐบาลมุ่งเน้นลงทุนปรับฐานโครงสร้างพื้นฐาน ออนไลน์ที่ล้ำสมัยและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าที่ผ่านมา และมีกฎหมายสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของประชาชนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นเข้ากับยุคสมัยวิถีใหม่ (New Normal) ยิ่งจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงไปและเพิ่มช่องทางเอื้อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมอนาคตไปพร้อมกัน และที่สำคัญต้องไม่ลืมให้ความสำคัญ ดูแลสุขภาพจิตของประชาชนไปด้วยกัน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว