สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ามีแนวโน้มลดลงในประเทศส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การที่ในอีกหลายภูมิภาคของโลกมีแนวโน้มกลับมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และดับเบิลยูเอชโอเพิ่งเพิ่มเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ โอไมครอน ให้เป็นสายพันธุ์น่าวิตกกังวล ลำดับที่ 5 ยิ่งบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อปกป้องชุมชนจากเชื้อไวรัสโคโรนา


เนื่องจากยิ่งเชื้อไวรัสวนเวียนอยู่ในชุมชนนานเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสของการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น และการแพร่ระบาดของโรคจะยิ่งยาวนาน มาตรการรักษาความสะอาดส่วนบุคคลจึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญ


นอกจากนี้ รายงานของดับเบิลยูเอชโอระบุว่า 31% ของประชากรในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บังกลาเทศ เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมา เนปาล ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และไทย ได้รับวัคซีนครบแล้ว และ 21% ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไข ขณะที่อีก 48% ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1,000 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ดังนั้น ดับเบิลยูเอชโอขอให้ประชาชนในเอเชียะตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน “ตั้งการ์ดสูง” ต่อไป และไม่ชะล่าใจ โดยขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงไม่ยุติ


ดับเบิลยูเอชโอประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 นับเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 1 ทศวรรษ ต่อจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก เมื่อปี 2552 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ระหว่างปี 2556-2559 สถานการณ์โรคโปลิโอ เมื่อปี 2557 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา เมื่อปี 2559 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยตองโก ( ดีอาร์คองโก ) เมื่อปี 2562.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES