โรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ได้เปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.น้ำคอก อ.เมือง จ.ระยอง ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ถือ เป็นโครงการต้นแบบการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง

ศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า หัวใจของการบริหารขยะคือต้องทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด สามารถลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงไปด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน โรงไฟฟ้านอกจากทำหน้าที่แปลงขยะเป็นไฟฟ้าแล้ว ยังเป็น ศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน(Waste to Energy Learning Center) ด้วยเงินลงทุน 12 ล้านบาท  เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในการให้ความเข้าใจการบริหารจัดการขยะ

เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะชี้ให้เห็นว่าขยะเมื่อมีการคัดแยกอย่างเป็นระบบสามารถกลายเป็นขุมทรัพย์ได้ โดยการออกแบบการสื่อสารรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ ที่สามารถดึงดูด และทำให้เกิดความเข้าใจกระบวนการของขยะตั้งแต่ชุมชนจนได้มาเป็นเชื้อเพลิงป้อนสู่โรงไฟฟ้า โดยศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน(Waste to Energy Learning Center) แบ่งพื้นที่เป็น  4 โซน

โซน สามารถรับชมหนังอนิเมชั่น ที่จะพาผู้เยี่ยมชม ได้เข้าใจถึงที่มาของ  ชนิด และ ประเภท  ขยะต่างๆ ของชุมชน ที่นำมาสู่การบริหารจัดการขยะ เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหลัก ส่งต่อให้กับโรงไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า ป้อนสู่ระบบของประเทศ เป็นการถ่ายทอดภาพรวมของศูนย์บริหารจัดการขยะครบวงจร  หลังจากเสร็จสิ้นการรับชม จอภาพจะมีการเปิดออกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เห็นถึงการปฏิบัติงานจริงของเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ภายในอาคารคัดแยกขยะ  

โซน 2 อุโมงค์ลำเลียง เป็นการจำลองให้ความรู้สึกการลำเลียงขยะประเภทต่างๆ มายังศูนย์คัดแยกแห่งนี้ เพื่อการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี โดยจัดแสดงผลข้อมูลปริมาณขยะ ประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงระยะเวลาการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท  แสดงให้เห็นถึงเทคนิคที่นำมาใช้ในการจัดการขยะ ด้วยเครื่องจักรต่างๆ ผ่านจอแสดงผลรูปแบบ Animation สามารถเห็นการทำงานของเครื่องจักรภายในอาคารคัดแยกแห่งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ด้านเทคนิคของเครื่องจักรที่ใช้ในศูนย์ฯ แห่งนี้ 

โซน 3 Trash to treasure  พบกับการจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของขยะว่าเป็นสมบัติล้ำค่า ถ้าเราคัดแยกอย่างถูกวิธี จากขยะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์  ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ควบคู่ไปกับการนำเสนอชิ้นส่วนของขยะผ่านรูปแบบ Hologram ให้ดูน่าสนใจและทันสมัย นอกจากนี้ ยังเป็นการโชว์ศักยภาพ ภาพรวมขององค์ประกอบทั้งหมด ทั้งเทคโนโลยี เครื่องจักรต่างๆ ภายในอาคารคัดแยกตั้งแต่ต้นจนจบ จะทำให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าใจในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอย่างแท้จริง ที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า โดย เยาวชนจะได้ร่วมเล่นเกมส์แยกขยะลงถังให้ถูกประเภท ซึ่งนอกจากได้ทดสอบความรู้ยังได้รับความเพลิดเพลิน อีกด้วย

โซนสุดท้าย ที่ทุกภาคส่วนช่วยกันบริหารจัดการขยะร่วมกัน ในโซนนี้จะแสดงถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ต่างๆ ที่บริษัทฯ ดำเนินการ อาทิ โครงการ “Zero Waste Village” ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะของชุมชนบ้านไผ่ ต.หนองตะพาน  อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 

มนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ  8.1 แสนคน และประชากรแฝงอีกเท่าตัว แต่ละคนผลิตขยะเฉลี่ยวันละ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน มองไปอีก 20 ปีข้างหน้า ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะมีผู้มาใช้บริการ 60 ล้านคน ขณะที่ อบจ.มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน(Waste to Energy Learning Center)” เปิดมุมมองใหม่การบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ พาจังหวัดระยองสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” อย่างยั่งยืน