เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งชี้มูลความผิดนายสุเทพกับพวกคดีทุจริตก่อสร้างโรงพักได้นัดนายสุเทพ ผู้ถูกกล่าวหากับพวก เพื่อยื่นฟ้องคดีทุจริตจัดสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ 396  แห่ง มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทเศษ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.)  เวลา 09.30 น. วันที่ 30 พ.ย.นี้ โดยนายสุเทพ ยืนยันกับตนว่าจะไปตามที่ ป.ป.ช.นัดหมาย ซึ่งเบื้องต้น ได้เตรียมโฉนดที่ดินราคาประเมินกว่า 1 ล้านบาท ไว้เป็นหลักทรัพย์การประกันตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่า ศาลจะเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่าจำนวนเท่าใด

เมื่อถามว่า รู้สึกหนักใจในการต่อสู้คดีหรือไม่ นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจอะไร เราก็สู้คดีไปตามพยานหลักฐาน ในชั้น ป.ป.ช.นายสุเทพ ก็ชี้แจงไปแล้ว เมื่อถึงชั้นศาลเราก็ต้องสู้คดี นำพยานเข้าสืบ ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อศาลใช้ดุลพินิจ เท่าที่ทราบ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสุเทพ กับพวก 4-5 คน ซึ่งรวมถึง พล.ต.อ.ปทีบ ตันประเสริฐ อดีตจเรตำรวจ และอดีตรักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) และบริษัทฯ ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สตช.ในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามอนุมัติโครงการก่อสร้างวันที่ 9 มิ.ย.2552 วงเงิน 5,800 ล้านบาท โดยในสมัยที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. เสนอให้มีการทำสัญญาก่อสร้างแยกเป็นรายภาค 9 สัญญา แยกเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ บช.ภ.1-9 แต่ปรากฏว่าต่อมาอีก 5 เดือน วันที่ 18 พ.ย.2552 สมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็น รรท.ผบ.ตร.ได้เสนอให้ทำสัญญาใหม่จากการแยกเป็นรายภาค ให้รวมศูนย์เป็นสัญญาฉบับเดียว นายสุเทพเห็นชอบกับการแก้สัญญาดังกล่าว

โดยให้บริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียวเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างโรงพักทดแทน เป็นต้นเหตุให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า การก่อสร้างโรงพักหลายแห่งถูกทิ้งร้าง นำไปสู่การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สมัยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ

กระทั่งมีการชี้มูลความผิดนายสุเทพ กับพวกในที่สุดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ในการก่อสร้างจำนวน 396 แห่ง วงเงิน 5,848 ล้านบาท เนื่องจากมีเอกชนรายหนึ่งเป็นผู้รับจ้างในปี 2554 โดยยกเลิกแนวทางการจัดจ้างแบบแยกการเสนอราคา เป็นรายภาค และอนุมัติให้รวมสัญญาก่อสร้างเป็นสัญญาเดียว อันเป็นการกีดกัน และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งกล่าวหา และกล่าวหา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) และคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง ของตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ กับพวก