สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐออกแถลงการณ์ เมื่อวันจันทร์ เรื่องการเตรียมยกระดับคุณภาพของบุคลากรและสรรพาวุธ ควบคู่ไปกับการขยายอาณาเขตของพื้นที่สำหรับปฏิบัติการทางทหาร ในดินแดนกวม และออสเตรเลีย โดยมีการระบุอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของตัวเองลงมาทางใต้
ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของรัฐบาลวอชิงตันยืนยันว่า รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถเปิดเผยได้ ด้วยเหตุผลด้านชั้นความลับและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เป็นการตอกย้ำว่า สหรัฐเพิ่มการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในระดับที่มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยนอกจากเพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับทุกประเทศร่วมภูมิภาคแล้ว ยังจะเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางทหาร และด้านการต่างประเทศ ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรอีกหลายแห่งด้วย ไปจนถึงการขยายขอบเขตความร่วมมือ เพื่อต้านทาน “ความก้าวร้าว” จากรัสเซีย
Pentagon plans stronger US posture toward China, Russia.
— AFP News Agency (@AFP) November 30, 2021
The US military will re-inforce deployments and bases directed at China and Russia, while maintaining forces in the Middle East adequate to deter Iran and jihadist groups, the Pentagon sayshttps://t.co/CzkFF2wgnt pic.twitter.com/rJJRh1ETzt
ในเวลาเดียวกัน นายแดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออก อยู่ระหว่างเดินสายเยือน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. จนถึงวันที่ 4 ธ.ค.นี้ เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลวอชิงตัน ที่ให้ความสำคัญและต้องการร่วมมือกับภูมิภาคแห่งนี้ ในการบริหารจัดการและฝ่าฟันความท้าทายนานัปการ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
.@USAsiaPacific Assistant Secretary Kritenbrink will be traveling to Jakarta, Kuala Lumpur, Singapore, and Bangkok from Nov. 27 to Dec. 4, where he will reaffirm our commitment to our allies and partners and discuss working together on today’s challenges. https://t.co/jARI8CXqzu
— Ned Price (@StateDeptSpox) November 26, 2021
ขณะเดียวกัน สหรัฐต้องการเดินหน้าผลักดันจุดยืนของตัวเอง และการสนับสนุนที่มีต่อ “ความเป็นเสรีและการเปิดกว้าง” ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และสถานการณ์ในเมียนมา
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเรียกได้ว่า เป็นการต่อยอดจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมย่อยในการหารือประจำปีของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่บรูไนเป็นเจ้าภาพ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES