นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรพืชเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มเติมวงเงิน 76,080 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 54,972 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงิน 10,065 ล้านบาท รวมวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

“การจ่ายเงินประกันรายได้หรือเงินส่วนต่างของข้าวนั้น ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.จ่ายไปแล้ว 2 งวด เป็นเงิน 13,000 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 31 งวด ซึ่งตอนนี้ที่ประชุมอนุมัติวงเงินให้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ธ.ก.ส. ต้องไปประชุม และได้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 3 ให้กับเกษตรกร ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือน ธ.ค.นี้ จะจ่ายเงินส่วนต่างได้ หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมของบอร์ด ธ.ก.ส.”

ทั้งนี้ในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ นั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ โดยโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินจ่ายขาด ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือน ก.ย.64 – เม.ย.65

ส่วนโครงการประกันรายได้ยาง ต้องเป็นชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิ.ย.2564 จำนวน 1,880,458 ราย โดยพื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.16 ล้านไร่และประกันรายได้ในระหว่าง ต.ค.64 – มี.ค.65 มีหลักเกณฑ์เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่, กำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย 23 บาท/กิโลกรัม และกำหนดแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด