นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นของร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีกค้าส่งและซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกอำเภอ ทั่วประเทศ 8,428 ราย พบว่า ร้านสะดวกซื้อและร้านโชห่วยยังมีความจำเป็นต่อบริโภคในระดับใกล้เคียงกัน โดย 88.02% เห็นว่าร้านสะดวกซื้อมีความจำเป็นมากที่สุด ขณะที่อีก 87.53% ได้เลือกร้านโชห่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงระบุว่าร้านโชห่วยมีความจำเป็นมาก ส่วนอีก 77.65% เลือกซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ 

“แม้ภาพรวมผู้บริโภคส่วนมาก ยังนิยมซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อสูงกว่า แต่ร้านโชห่วยกลับได้รับความนิยมมากสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และอาชีพเกษตรกรก็นิยมซื้อสินค้าที่ร้านโชห่วยอยู่ ส่วนระดับภูมิภาคที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับความนิยมน้อยที่สุด” 

สำหรับสินค้าที่เลือกซื้อจากร้านต่างๆ ผู้ตอบส่วนใหญ่ บอกว่า จะซื้อสินค้าเล็กๆ น้อยๆ จากร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อมากที่สุด โดยซื้อสัปดาห์ละ 2-3 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งไม่เกิน 300 บาท ส่วนซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ จะเป็นการซื้อสินค้าประจำเดือน และค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 300 บาทขึ้นไป  

นายรณรงค์กล่าวว่า ร้านโชห่วยยังมีข้อด้อยที่จะต้องปรับปรุง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ได้แก่ มีสินค้าจำหน่ายไม่หลากหลาย มีจำนวนน้อย ใกล้หมดอายุหรือหมดอายุ ชำระด้วยเงินสดเท่านั้น คุณภาพต่ำ ราคาแพง คิดเงินช้า ระบบคิวไม่ดี พูดจาไม่สุภาพ และไม่สามารถเลือกสินค้าด้วยตนเองได้ แต่มีข้อดีตรงที่สะดวกในการเดินทาง ราคาถูก มีสินค้าแบ่งขาย มีสินค้าที่ต้องการ หลากหลาย และคุณภาพตรงกับความต้องการ ความไว้วางใจ คุ้นเคย ความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงมีมาตรการรัฐสนับสนุน ตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ในชุมชน มีเงินเชื่อ 

“ปัจจุบัน ผู้บริโภคยังนิยมซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยอยู่ แต่ร้านโชห่วยต้องเร่งแก้ไขจุดบกพร่อง คือ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า การจัดวางสินค้า ความสะอาด คุณภาพสินค้า จัดโปรโมชั่น คุณภาพการบริการ/อัธยาศัย เพิ่มบริการส่งถึงบ้าน ความรวดเร็วในการคิดเงิน และระบบคิว เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อ ซึ่งจะทำให้ร้านโชห่วยอยู่คู่กับคนไทยได้ยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นช่องทางลดค่าครองชีพให้กับคนในชุมชน รวมถึงผู้มีรายได้น้อย”