นักวิจัยในสิงคโปร์ได้พัฒนา ‘พลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะ’ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีบาดแผลเรื้อรังได้จากต่างสถานที่ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นและโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้สร้างตัวเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตรวจจับแบบสวมใส่ติดร่างกายได้ โดยติดตัวเซ็นเซอร์ดังกล่าวเข้ากับแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลแบบโปร่งใส เพื่อติดตามอาการและลักษณะของบาดแผลหลังในระหว่างการรักษา โดยอาศัยข้อมูลจากร่างกายผู้ป่วย เช่น อุณหภูมิร่างกาย ชนิดของแบคทีเรียในบาดแผล ระดับความเป็นกรด-ด่างและลักษณะการติดเชื้อของบาดแผล   

ศาสตราจารย์ฉวีเต็กลิม หัวหน้าทีมวิจัยของแผนกวิศวกรรมชีวเวชแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์อธิบายว่า โดยปกติแล้ว เมื่อเรามีบาดแผลหรือแผลเปิด ถ้าหากเกิดติดเชื้อ จะมีวิธีตรวจดูเพียงวิธีเดียวคือแพทย์ต้องดูแผลด้วยตัวเอง แล้วประเมินอาการจากที่เห็น ถ้าหากต้องการรู้ข้อมูลมากกว่านั้น ก็ต้องมีการเก็บตัวอย่างของเหลวจากบาดแผลและส่งไปตรวจที่ห้องแล็บ

ศาสตราจารย์ฉวีเต็กลิม หัวหน้าทีมวิจัยของแผนกวิศวกรรมชีวเวชแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ถือตัวอย่างพลาสเตอร์ ‘VeCare’ ให้ได้เห็นกันชัด ๆ

“ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่ก็คือใช้พลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะของเรา เพื่อลดเวลาของกระบวนการรักษาจากหลายชั่วโมงหรือหลายวัน เหลือเพียงไม่กี่นาที” ศาสตราจารย์ลิม กล่าว

เทคโนโลยี “VeCare” นี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถพักฟื้นที่บ้านได้มากขึ้นและออกมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ

ได้มีการนำพลาสเตอร์ VeCare ไปทดสอบกับผู้ป่วยหลายรายซึ่งมีแผลเรื้อรังเนื่องจากหลอดเลือดดำเสื่อม หรือมีภาวะแผลเรื้อรังที่ขา ซึ่งมีสาเหตุจากการไหลเวียนของเลือดภายในเส้นเลือดมีปัญหา

ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพซึ่งอยู่ในตัวเซ็นเซอร์ของพลาสเตอร์อัจฉริยะจะตรวจจับอาการและลักษณะของบาดแผลโดยละเอียด

เท่าที่ทีมวิจัยเก็บข้อมูลมาจนถึงตอนนี้ พบว่าพลาสเตอร์ดังกล่าวใช้ได้ผลดี ศาสตราจารย์ลิมกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำพลาสเตอร์ดังกล่าวไปใช้กับบาดแผลชนิดอื่น เช่น บาดแผลที่บริเวณเท้าซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวาน

เครดิตภาพ : Reuters