นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนชาตประกันภัย เปิดเผยว่า บริษัทได้วาง 5 กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปี 65 ทั้งเพิ่มช่องทางการขาย วางขายบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม คู่ค้า พันธมิตร ขยายลูกค้าใหม่ๆ, พัฒนาผลิตภัณฑ์, พัฒนางานบริการ, กลยุทธ์การลงทุนในส่วนของดิจิทัล คอนซูมเมอร์ และกลยุทธ์ลงทุน การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุน โดยตั้งเป้าหมายปี 65 จะสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวม 10,000 ล้านบาท คิดเป็นเติบโต 22% เทียบปี 64 ที่คาดว่าจะได้ 8,200 ล้านบาทตามเป้าหมาย
สำหรับปัจจุบันมีลูกค้าถือกรมธรรม์ 1.5 ล้านฉบับ มีจำนวน 1 ล้านคน เบี้ยประกันภัยรวม ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 5,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 670 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 3% เทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักเป็นผลมากจากการยึดโยบายในการรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง มีคณะกรรมการและกระบวนการจัดการประเมินความเสี่ยงได้อย่างตรงจุด ยึดการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความชำนาญเพื่อครองตลาด โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ที่มีสัดส่วนการขาย 84% ขณะที่ประกันภัยประเภทอื่นๆ อยู่ที่ 16% สามารถควบคุมและบริหารจัดการค่าสินไหมไว้ได้ที่ 51.8%
นอกจากนี้ธนชาตประกันภัยได้รับการการันตีจากจากทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ AA-(stable) มีฐานะทางการเงินมั่นคง มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดยเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินสูงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยด้วยเงินทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว จำนวน 4,930 ล้านบาท มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ สิ้นเดือน พ.ย.64 สูงถึง 1,386% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ คปภ.
นายพีระพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับยุคที่มีการใช้รถยนต์น้อยลง อย่างประกันภัยรถยนต์ ธนชาต 2+ฟิต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีหลังจากเปิดขายเมื่อช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้พอดีกับความต้องการของผู้ที่กำลังมองหาแบบประกันภัยที่มีความคุ้มครองพอดีกับความเสี่ยงของตนเองมากขึ้น และต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายไว้ใช้ยามจำเป็น
นอกจากกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่ปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ในส่วนของช่องทางการขายและบริการก็จะมีการปรับเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการให้บริการผ่านออนไลน์ตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ด้วยบริการผ่าน Line Service เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตรรายสำคัญของบริษัท รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายบน Digital Platform ของคู่ค้า เพื่อขยายธุรกิจและเปิดรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ
“ช่วงโควิด บริษัทฯไม่ได้กระทบมาก เพราะไม่ได้รับประกันโควิด ยอมรับตอนแรกได้ศึกษาบ้างแต่กรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นเรื่องการระบาด และมีความเสี่ยงมากจึงไม่ได้เปิดรับประกันโควิดเลย หากจะเกิดโอไมครอนเข้ามาทำให้ล็อกดาวน์ เชื่อว่ากระทบกับคนเยอะ แต่ธุรกิจประกันเชื่อว่าปรับเปลี่ยนการขายมาเยอะแล้วบนออนไลน์ จนเกิดความคุ้นเคยในการหาวิธีพูดคุยหาลูกค้า”
นายพีระพัฒน์ กล่าวว่า กรณีบริษัทประกันจะควบรวมกิจการมองว่าเป็นแนวทางที่บริษัทเล็กต้องเอาตัวรอดให้ได้ เพราะมาร์เก็ตแชร์ในตลาดประกัน 80% เป็นบริษัทใหญ่แล้ว และบริษัทเล็กมีต้นทุนทั้งเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่, กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือพีดีพีเอ, เควายซี และอื่นๆอีกมาก ซึ่งมาตรฐานบัญชีใหม่ทำให้ต้องใส่เพิ่มทุนอย่างน้อย 30 ล้านบาท แต่การควบรวมกิจการ ต้องให้ภาครัฐร่วมให้ความช่วยเหลือด้วย เช่น มาตรการภาษีออกมาสนับสนุน เป็นต้น