พล.อ.อ.เสนาะ พรรณพิกุล ผอ.สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ “วันพ่อแห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และเชิดชูพระเกียรติในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม ทางพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จึงได้จัดงานมหกรรมในหลวงรักเรา “ภูมิพลังแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 3-6 ธ.ค.64 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ นวนคร จ.ปทุมธานี เปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเราโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับภายในงานปีนี้ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการดินมีชีวิต จัดแสดงคุณสมบัติของจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินที่สร้างคุณค่า สร้างพลังแห่งชีวิตให้กับผืนดิน พร้อมสาธิตเรียนรู้เทคนิคการปั้นก้อนจุลินทรีย์ เพื่อปรับโครงสร้างดินและการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สูตรเด็ดที่ช่วยบำรุงพืช, นิทรรศการผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 6 วิถีแห่งการพึ่งพาตนเอง, รวบรวมสายพันธุ์ดอกไม้วันพ่อ, เวทีเสวนาตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำจากเกษตรกรต้นแบบ อบรมวิชาของแผ่นดิน และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงจัดหนักจัดเต็มตลอด 4 วัน กว่า 16 หลักสูตร ในรูปแบบจำกัดผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คนต่อวิชา เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมยังรับชมการถ่ายทอดสด ได้ทาง Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์และการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร พลังงาน พร้อมด้วยตลาดและชุมชน เลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย ผลิตผลเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพ ทั้งของกิน ของใช้ ผลิตภัณฑ์ แปรรูป ไม้ดอก ไม้ผล กว่า 150 ร้านค้า โดยเกษตรกรผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต นำมาจัดจำหน่ายในราคามิตรภาพ โดยจัดให้มีเวทีเสวนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากเกษตรกรต้นแบบ จัดเต็มการอบรมวิชาของแผ่นดิน และการอบรมเชิงปฏิบัติการ เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ด้านการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงจัดหนักจัดเต็มตลอด 4 วัน กว่า 16 หลักสูตร ในรูปแบบ Onsite จำกัดผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คนต่อวิชา เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสามารถรับชมการถ่ายทอดสด ได้ทาง Facebook และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ.