เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2564 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. นายสุชาติ เศรษฐมาลินี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 18 ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) มาเลเซีย (SUHAKAM) เมียนมา (MNHRC) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ)

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันเปิดตัว “แนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน” อย่างเป็นทางการ โดยมีสาระสำคัญ เช่น สถานการณ์การป้องกันการทรมานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการป้องกันการทรมานและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในเรื่องการป้องกันการทรมาน การปกป้องบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกทรมาน เป็นต้น

นอกจากในการประชุมประจำปีของ SEANF เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย.ที่ผ่านมา ประธาน กสม. ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำ ร่วมกับสมาชิก SEANF ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในระบบราชทัณฑ์ และการสนับสนุนวาระว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังประสบข้อท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาเชิงระบบของงานราชทัณฑ์ ซึ่งหลังจากนี้ SEANF จะได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือข้อหารือส่งไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศหรือเสนอในกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประสบปัญหาสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอและได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความแออัดอันเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานและมาตรฐานสากลอย่างไม่ทั่วถึง การปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการคุมขัง การทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น การป้องกันการทรมาน จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.