เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงแนวทางการเยียวยากลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานบันเทิงกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิดว่า ตอนนี้รอตัวเลขคนที่ต้องเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 คาดไม่น่าเกิน100,000-200,000 คน โดยกรอบการเยียวยาใช้บรรทัดฐานเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 5,000 บาท ส่วนการเยียวยาผู้ประกอบการ สามารถใช้สิทธิในการเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอีได้ ซึ่งรัฐบาลช่วยหัวละ 3,000 บาท ลูกจ้างไม่เกิน 200 คนต่อ 1 นายจ้าง, ส่วนลูกจ้างที่อยู่ในมาตรา 33 สามารถช่วยเหลือเยียวยาจากเหตุสุดวิสัยชดเชย 50% ของค่าจ้างได้, ส่วนอาชีพอิสระต้องให้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับหลักการเยียวยา ต้องพิจารณาจากคำสั่ง ศบค.หากธุรกิจเปิดได้ช้ากว่าธุรกิจอื่น 1 เดือน ต้องเยียวยา 1 เดือน แต่หากเปิดไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด ต้องขยายระยะเวลาเยียวยาออกไป ส่วนกลุ่มอาชีพที่จะได้เยียวยา คือ ศิลปินที่เล่นในผับเทค บาร์กลางคืน คนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เด็กเสิร์ฟ คนขับรถ เป็นต้น แต่สมาคมที่เกี่ยวข้องต้องยืนยันและรับรองตัวบุคคลส่วนศิลปินที่อายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครมาตรา 40 ได้ อาจต้องประสานกระทรวงวัฒนธรรมช่วยดูแล คาดว่าการประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง วันที่ 3 ธ.ค.จะได้ข้อสรุปใช้แนวทางแบบใด

“ตามหลักการของผม เราอาจจะช่วยได้ในเรต 5,000 บาท เพราะใช้เงินกู้ของรัฐบาล ไม่ได้ใช้เงินกองทุนประกันสังคม แต่หากอยู่ในมาตรา 33 เราจะใช้เงินเหตุสุดวิสัยเข้าช่วยอีกขาหนึ่งคือจ่ายชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ซึ่งหากเป็นลูกจ้างในมาตรา 33 อาจได้รับการเยียวยา 2 ทาง ทั้งจากสำนักงานประกันสังคมเยียวยา และในทางที่รัฐบาลช่วย ส่วนนายจ้างจะได้เยียวยาจากโครงการช่วยเหลือการจ้างงานเอสเอ็มอี แต่ในส่วนที่เราเป็นห่วงสุดคืออาชีพอิสระของศิลปินกลางคืนในส่วนนี้” นายสุชาติกล่าว.