“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เปิดเผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน พ.ย.64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ตามการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่ดีขึ้น การเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติมจากเดือนก่อน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การผ่อนเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยแอลทีวีที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิตปรับดีขึ้น

ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิดยังคงมาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ โดยภาคที่ไม่ใช่การผลิตมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม ขณะที่ภาคการผลิตยังคงเจอปัญหาการขนส่งที่ยังไม่คลี่คลาย โดยความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ปรับลดลง เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของระดับการจ้างงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งในด้านจำนวนและรายได้แรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการ สอดคล้องกับระดับการฟื้นตัวที่ดีขึ้นชัดเจน และการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานที่ลดลงในทุกประเภท

ด้านสัดส่วนของบริษัทที่มีสภาพคล่องมากกว่า 6 เดือนเพิ่มขึ้นจากภาคที่ไม่ใช่การผลิตเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ ขณะที่บางธุรกิจมีกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนปรับเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องจักร ธุรกิจผลิตสิ่งทอ ธุรกิจผลิตพลาสติก และภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตและขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ผลของการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 การเปิดประเทศมีผลต่อรายได้ของธุรกิจในภาคที่ไม่ใช่การผลิตมากกว่าภาคการผลิต แต่ธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่ารายได้ยังเป็นไปตามที่คาดไว้ มีเพียงส่วนน้อยที่เห็นว่ารายได้แย่กว่าที่คาด จากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด และกำลังซื้อที่อ่อนแอเป็นสำคัญ

ขณะที่ผลของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับราคาสินค้าและบริการ ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการแข่งขันสูงและกำลังซื้อที่อยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับราคาได้ยากกว่าธุรกิจอื่น สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มราคา ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับได้ไม่เกิน 20% ของต้นทุนที่เพิ่ม ขณะที่มีเพียง 11% ที่ปรับขึ้นราคาได้มากกว่า โดยอยู่ในกลุ่มของธุรกิจผลิตปิโตรเลียมและเคมี ผลิตเหล็ก ผลิตอาหาร การค้าและที่พักแรม

นอกจากนี้ยังสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน พ.ย.64 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงเล็กน้อยทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าจากผลของกำลังซื้อที่ต่ำกว่าคาด และความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ในระยะข้างหน้า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม คาดว่าความเชื่อมั่นจะปรับลดลง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในช่วงแรกหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ เมื่อ 1 พ.ย. 64 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีโปรโมชั่นทั้งจากร้านออนไลน์และออฟไลน์ และเริ่มชะลอลงตามลำดับ สะท้อนกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งและความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ผู้บริโภคต้องจับจ่ายใช้สอยหลังจากลดใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า ซึ่งในส่วนนี้ยังคงที่มีจำกัด