เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการสำรวจแอนติบอดีต่อโควิด -19 ในกลุ่มคนไทยอายุ 18-60 ปี ตามทะเบียนราษฎร ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนและไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อมาก่อน โดยสุ่มตัวอย่าง 26,717 คน จาก 30 จังหวัด จาก 12 เขตสุขภาพ โดยทำการสำรวจเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการเจาะเลือดหาแอนติบอดี ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบทางสถิติหาว่า มีคนที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติในประเทศ และส่งผลให้เกิดการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ตรงเป้าหมาย ซึ่งภาพรวมพบการติดเชื้อไม่รู้ตัว 371 คน คิดเป็น 1.4% โดยเขตที่พบการติดเชื้อไม่รู้ตัวมากที่สุดได้แก่ เขตสุขภาพที่ 12 (พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล) คิดเป็น  6.2% เขตสุขภาพที่ 6 (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง) คิดเป็น 2.8% เขตสุขภาพที่ 5 (กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร) คิดเป็น 2.7% เขตสุขภาพที่ 4 (นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก) คิดเป็น 2.5% และ เขตสุขภาพที่ 2 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) คิดเป็น 1.7% 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทั้งนี้การสำรวจเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ย. จึงจะเห็นได้ว่าอัตราการติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวในพื้นที่ภาคใต้ สูงสุด ซึ่งเมื่อนำข้อมูลการติดเชื้อตามธรรมชาติ แบบไม่รู้ตัว มารวมกับคนที่ติดเชื้อ และตรวจพบด้วย RT-PCR และรวมการจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนครบโด๊ส 2 เข็ม หรือ 3 เข็ม โดยเป็นรวมและเปรียบเทียบทางคณิตศาสตร์ ก็จะเท่ากับ จำนวนคนที่มีภูมิคุ้มกันในพื้นที่ โดยการสำรวจครั้งนี้แม้ไม่รวมกทม. โดยใน 12 เขตสุขภาพ พบมีประชากรติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวคิดเป็น 1.4 % และ มีการติดเชื้อและตรวจพบด้วย RT-PCR 2.6% และเมื่อรวมกับจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม/โด๊ส พบว่ามี 54.7% ทำให้ภาพรวมไทยมีระดับภูมิคุ้มกันประมาณ 58.7% เมื่อจำแนกตามเขตพบว่าเขต 1 ภูมิรวม 52% เขต 2 ภูมิรวม 46.7% เขต 3 ภูมิรวม 46.1% เขต 4 ภูมิรวม 63.2% เขต 5 ภูมิรวม 60.7% เขต 6 ภูมิรวม 71.8% เขต 7 ภูมิรวม 40.3% เขต 8 ภูมิรวม 41.5% เขต 9 ภูมิรวม 47.6% เขต 10 ภูมิรวม 39.7% เขต 11 ภูมิรวม 56.6% และเขต 12 ภูมิรวม 57.8%

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในแต่ละเขตยังมีช่องว่างที่เป็นกลุ่มเวอร์จิ้น หรือไม่มีภูมิคุ้มกันจากทั้งการฉีดวัควีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงหากเกิดการติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเขต 10 ภาคอีสานถึงแม้มีการติดเชื้อ มีการติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวตามธรรมชาติ 0.5% และเมื่อรวมคนติดเชื้อที่ตรวจพบด้วยวิธี RT-PCR 0.3% และรวมกับคนรับวัคซีน 38.9% ทำให้มีภูมิคุ้มกันในพื้นที่รวม 39.7% ถือว่ามีภูมิกันในพื้นที่น้อยที่สุด สะท้อนว่ายังมีกลุ่มคนที่ยังเวอร์จิ้นหรือไม่ได้รับวัคซีนและติดเชื้ออีกมากดังนั้นต้องเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ภูมิคุ้มกันน้อย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ได้รายงานผลการสำรวจดังกล่าวในที่ประชุม EOC แล้ว ปลัด สธ. ให้ความเห็นว่าตัวผู้มีภูมิคุ้มกันในพื้นที่ รวมถึงคนรับวัคซีน และจำนวนคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เนื่องจากการสำรวจครั้งนี้ตามทะเบียนราษฎร แต่เตรียมสำรวจแบบสุ่มหาภูมิคุ้มกันคนไทยภาพรวมโดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของของสุขภาพของประชากร อิงจากข้อมูล สปสช. และประกันสังคม.