เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความต้องการและทิศทางปฏิรูป อบต. กรณีศึกษาความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,110 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-4 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงความจริงที่เคยพบเห็นเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พบว่า ส่วนใหญ่ 68.5 ระบุ มีการจ่ายเงินซื้อเสียง รองลงมาคือ ร้อยละ 66.4 ระบุ คนชนะเลือกตั้งส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ร้อยละ 65.5 ระบุ มีปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น ในการใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่ ร้อยละ 62.8 ระบุ ขาดการประสานงานที่ดีกับชุมชน มักจะทำงานแบบอำนาจนิยมเผด็จการ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาประชาชน และร้อยละ 61.8 ระบุใช้จ่ายงบประมาณทำอะไรไม่มีการถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ระบุ ขาดความโปร่งใสแท้จริง ประชาชนขาดพลังในการตรวจสอบ ร้อยละ 62.0 ระบุ ขาดการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นและเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ร้อยละ 61.8 ระบุ ถูกแทรกแซงการทำงานจากการเมืองระดับชาติ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ร้อยละ 61.3 ระบุ หลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จากส่วนกลาง ร้อยละ 61.0 ระบุ ขาดการประชาสัมพันธ์ ประชาชนไม่ค่อยรับรู้ ไม่เข้าใจทิศทางนโยบายและการทำงานต่างๆ ของ อบต.

ที่น่าเป็นห่วง คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.3 พบเห็นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในการทอดทิ้งประชาชนอีกพวกหนึ่งที่ไม่เลือกตนเอง ในขณะที่ ร้อยละ 25.9 พบเห็นปานกลาง และร้อยละ 17.8 พบเห็นค่อนข้างน้อยถึงไม่เคยพบเห็นเลย

ที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการของประชาชนที่พบว่า ส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 99.6 ต้องการให้ อบต. ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ รองลงมาคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.6 ต้องการให้มีการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชน เกิดความเข้มแข็งของภาคประชาชนตรวจสอบการทำงานของ อบต. ร้อยละ 90.7 ต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์รับทราบความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น ร้อยละ 90.4 ต้องการให้ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางทั้งมหาดไทยและหน่วยงานราชการอื่นๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 ต้องการให้ใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ร้อยละ 89.7 ต้องการให้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่มีส่วนร่วมในการทำงานทุกขั้นตอน ร้อยละ 89.3 ต้องการให้มีการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส และร้อยละ 88.2 ต้องการความโปร่งใสในการทำงาน ตรวจสอบได้ ถูกประเมินผลจากหน่วยงานต่าง ๆ จากส่วนกลาง

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 ต้องการให้มีการปฏิรูปการทำงานของ อบต.ทั้งระบบค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 24.4 ต้องการปานกลาง และร้อยละ 10.4 ต้องการค่อนข้างน้อย ถึง
ไม่ต้องการเลย 

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า กระแสความต้องการของประชาชนชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปการทำงานของ อบต. เพราะพบเห็นปัญหาต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องของการซื้อเสียงเมื่อมีการเลือกตั้งคนชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในการใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่ที่ขาดการประสานงานที่ดีกับชุมชนและทำงานแบบเผด็จการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแท้จริง

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาคประชาชนยังขาดความเข้มแข็งในการตรวจสอบการทำงานของ อบต. ที่ขาดความโปร่งใส ขาดการบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะไม่มีการร่วมมือกับการเมืองฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่ และถูกแทรกแซงจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบการหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและเลือกปฏิบัติไม่ดูแลกลุ่มประชาชนที่ไม่เลือกตนเอง

“ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ อบต. ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ในการตรวจสอบความโปร่งใสนโยบายการทำงานและการใช้จ่ายงบประมาณ โดยไม่เลือกปฏิบัติดูแลเฉพาะกลุ่มประชาชนที่เลือกตนเอง ประชาชนส่วนใหญ่จึงสะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้องและมีความคาดหวังสูงให้มีการการปฏิรูป อบต. โดยเฉพาะ อบต.ชุดใหม่ปี 65 ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามที่สำรวจพบในการศึกษาครั้งนี้” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว