สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ว่าจากการที่ศาลเมียนมา ในกรุงเนปิดอว์ มีคำพิพากษา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้นางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา รับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก และ 2 ปี ฐานละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ภายใต้กฎหมายภัยพิบัติทางธรรมชาติ


คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินคำฟ้องชุดแรกจากทั้งหมด 11 ข้อหา ที่ยังมีทั้งการรับสินบน และการแพร่งพรายความลับของทางการ ซึ่งนางซูจีและจำเลยร่วมทุกคนให้การปฏิเสธ โดยหากศาลตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมด นางซูจี วัย 76 ปี อาจต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลานานสูงสุดมากกว่า 100 ปีนั้น


ต่อมา สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา (เอ็มอาร์ทีวี) รายงานว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา มีคำสั่ง “อภัยโทษบางส่วน” ซึ่งจะเป็นการลดระยะเวลาจองจำนางซูจีเหลือ 2 ปี และนับจากนี้เธอจะถูกคุมขัง “อยู่ในสถานที่ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ต้น” ที่ตีความได้ว่า นางซูจีจะไม่ต้องเข้าสู่เรือนจำ ขณะที่จำเลยร่วม คืออดีตประธานาธิบดีวิน มยินต์ วัย 70 ปี ได้รับการลดโทษลงเหลือ 2 ปี และให้รับโทษ “ในสถานที่ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ต้น” เช่นกัน


ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวถึงคำพิพากษาดังกล่าว “ไม่มีความชอบธรรม” และเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนางซูจี พร้อมผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่ชอบธรรมทุกคน ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) และคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ออกมาวิจารณ์คำตัดสินเช่นกัน ว่า “แทบไม่มีความน่าเชื่อถือ”


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการต่อปฏิกิริยาของโลกตะวันตก โดยข้อหาต่อไปที่จะมีการตัดสินบทลงโทษต่อนางซูจี คือการลักลอบนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสาร ซึ่งเป็นข้อหาแรกที่อัยการสั่งฟ้องเธอ ซึ่งบทลงโทษจำคุกนานสูงสุดของข้อหาดังกล่าว คือ 3 ปี และศาลมีกำหนดประกาศคำพิพากษา ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้.

เครดิตภาพ : REUTERS