เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่โรงแรมมรกตทวิน จ.ชุมพร นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รอง ผวจ.ชุมพร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Landbridge) เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ และขอบเขตการดำเนินงาน โดยมีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะผู้บริหาร ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว

กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ สนข. ดำเนินการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 30 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 66 ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง

โครงการนี้มีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย 1.ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Model) ของโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน

โดยแนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทเนอร์ และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถมเอเชียใต้ นอกจากนี้จากการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันแล้ว โครงการฯ ยังได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยจะก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน

ทั้งนี้ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ สนข. เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาโครงการฯ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน (Market Sounding) และการลงพื้นที่เข้าสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อรวบรวมข้อมูลมาพัฒนาโครงการให้มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ทั้งในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและในภาพการพัฒนาท้องถิ่นทุกระดับเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด