เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวหารัฐบาลจ่ายเงินค่าประกันรายได้ล่าช้า ปล่อยให้ชาวนาเดือดร้อนว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยควรทำการบ้านให้มากกว่านี้ ก่อนจะออกมาให้ความเห็นวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยไม่มีข้อมูล หรือต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริงหยิบยกการจ่ายเงินค่าประกันรายได้ให้กับชาวนางวดระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.มากล่าวหาว่ารัฐบาลจ่ายเงินล่าช้าหวังสร้างกระแสดราม่าโจมตีรัฐบาล ทำชาวนาวิตกกังวลหรือเพื่อหวังฟื้นโครงการจำนำข้าวที่เคยสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการเสนอข่าวรับช่วงกันอย่างเป็นขบวนการ โดยที่ข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาครอบคลุม 4.68 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังให้เงินค่าฝากเก็บ สำหรับชาวนาที่รวมข้าวเข้าจัดเก็บในยุ้งฉาง ชดเชยสภาพคล่องให้กับสหกรณ์และโรงสี รวมทั้งชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ค้าข้าว เรียกว่าดูแลครบวงจร โดยการจ่ายเงินงวดระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.นี้ ชาวนาจะได้รับเงินประกันรายได้อีก รวมทั้งเงินอุดหนุนค่าปรับปรุงพันธุ์ข้าวโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ ที่จะได้รับอีก ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้

“พรรคเพื่อไทยไม่ควรออกมาชี้นำ หรือสร้างประเด็นให้ชาวนาเกิดความสับสน ซ้ำเติมวิกฤติ โดยไม่คิดถึงจิตใจของพี่น้องชาวนาที่กำลังเดือดร้อน ที่หากหลงเชื่อพรรคเพื่อไทย อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรง พรรคเพื่อไทยควรห่วงความรู้สึกพี่น้องชาวนาไทยมากกว่าหวังผลทางการเมือง ทั้งที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือพี่น้องชาวนาไทย พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ส่วนที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยอ้างข้อมูลจากการพูดคุยกับผู้ส่งออกข้าวอ้างว่า ประสบปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ เพราะขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์และค่าระวางเรือที่สูง โดยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เข้าไปปรับปรุงแก้ไขเลยตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศนั้น น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่สะท้อนว่าคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยไม่ทำการบ้าน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์และค่าระวางเรือสูงเกิดขึ้นทั่วโลก มาจากการเร่งส่งออกสินค้าจากประเทศจีน หลังสถานการณ์โควิด และปัญหาตู้คอนเทเนอร์ตกค้างในสหรัฐและยุโรป ต้องใช้เวลานานในการนำตู้คอนเทเนอร์เปล่าส่งคืนประเทศต้นทาง ประกอบกับสายเดินเรือยังใช้ปริมาณเรือขนส่งเท่าเดิม ส่งผลให้ไม่มีที่วางตู้คอนเทเนอร์ จำนวนเรือไม่เพียงพอในการขนส่งทำให้ค่าระวางปรับสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาไปแล้วด้วยการกำหนดให้ท่าเรือกรุงเทพปรับลดค่าภาระตู้คอนเทเนอร์เปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ ในอัตรา 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.ในวงเงิน 5.28 ล้านบาท และให้ท่าเรือแหลมฉบังชดเชยค่ายกขนสินค้าให้เอกชนผู้ประกอบการนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่าส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาท ต่อทีอียู เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นเงิน 384 ล้านบาท รวม 2 รายการเป็นเงินทั้งสิ้น 389.28 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ตู้คอนเทเนอร์เปล่าในช่วงนี้ก็เริ่มกลับมาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือมีตู้ประมาณ 130,000 ทีอียู หรือมีปริมาณเท่ากับช่วง ต.ค.63  ปีที่แล้ว ซึ่งมีสัดส่วนใกล้กับการส่งออก แสดงว่าเริ่มกลับมาสมดุลกัน และในช่วงตั้งแต่ เม.ย. เป็นต้นมา กทท.ก็ประเมินปริมาณตู้เปล่าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวหาเลื่อนลอยและเกินเลยจากข้อเท็จจริงไปมาก.