สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน พบหารือกันผ่านระบบทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันอังคาร ใช้เวลานานประมาณ 2 ชั่วโมง โดยประเด็นหลักของการสนทนา คือสถานการณ์ปัจจุบันในยูเครน ที่รัฐบาลวอชิงตันและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า รัสเซียประจำการทหารร่วม 100,000 นาย และสรรพาวุธอีกจำนวนมาก ประชิดแนวพรมแดนทางตะวันตกที่ติดกับภาคตะวันออกของยูเครน


ทั้งนี้ ไบเดนเตือนปูตินอย่างตรงไปตรงมา ว่าสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกพร้อมใช้ “มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่แข็งกร้าว” รอบใหม่ต่อรัฐบาลมอสโก หากกองทัพรัสเซียข้ามพรมแดนเข้าไปในยูเครน โดยแผนการอาจส่งผลกระทบต่อโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “นอร์ด สตรีม ทู” และสหรัฐอาจเพิ่มความสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนในอนาคต นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า “อะไรก็ตามที่สหรัฐยังไม่ได้ทำเมื่อปี 2557 จะเกิดขึ้นในยุคนี้” สื่อถึงช่วงเวลาตึงเครียด เมื่อรัสเซียผนวกรวมไครเมีย


ด้านแถลงการณ์ของทำเนียบเครมลินระบุว่า ปูตินกล่าวกับไบเดน ว่าสหรัฐไม่ควร “โยนความรับผิดชอบทั้งหมด” ที่เชื่อมโยงสถานการณ์ในยูเครน ให้กับรัสเซียฝ่ายเดียว และวิจารณ์ “ความพยายามก่อให้เกิดพัฒนาการทางทหาร” ของนาโต ในยูเครน ผู้นำรัสเซียยืนกรานว่า รัฐบาลบาลมอสโกต้องการ “หลักประกันอย่างเป็นทางการ” เกี่ยวกับการไม่ขยายอาณาเขตทางทหารตามแนวพรมแดนทางตะวันออก และการไม่ติดตั้ง “อาวุธโจมตีนำวิถี” ในประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียแห่งใดก็ตาม


สำหรับคำกล่าวของปูตินนั้น เป็นแบบเดียวกับที่นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย กล่าวกับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เมื่อต้นเดือนนี้ โดยลาฟรอฟกล่าวด้วยว่า นาโตต้องไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก และหากนาโตไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดได้ รัสเซียจะเดินหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อปกป้องเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES