นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 39) ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายการเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรการควบคุมและป้องกันโรคต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขบ. จึงได้ปรับปรุงมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติจำนวน 10 ข้อดังนี้

1.คัดกรองผู้โดยสารและตรวจวัดอุณหภูมิก่อนการให้บริการ โดยผู้โดยสารจะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส 2.กำกับ ดูแล ให้พนักงานขับรถหรือผู้ให้บริการ และผู้โดยสาร สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง 3.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังการให้บริการ เช่น ราวจับ เบาะที่นั่ง และห้องสุขาบนรถโดยสารสาธารณะ ให้ทำความสะอาดทุก 2 ชม. 4.จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับพนักงานขับรถและผู้โดยสารล้างมือก่อนขึ้นรถ 5.งดให้บริการอาหารบนรถในระหว่างการเดินทาง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น

6.จำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า ผ่านทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เพื่อความสะดวก ในกรณีที่มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านจุดบริการจำหน่ายตั๋วโดยสาร ต้องจัดคิวการเข้าซื้อตั๋วให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 7.จัดเก็บข้อมูลของผู้โดยสาร โดยให้ผู้โดยสารลงทะเบียนเข้าใช้งานแอพ “ไทยชนะ” พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์ม “THAI SAVE THAI (TST)” หรือแอพอื่น ก่อนการเดินทาง 8.ให้หยุดหรือจอดรถให้ผู้โดยสารลงจากรถในสถานที่หยุดหรือจอดตามที่กำหนดไว้ 9.จัดให้มีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ เพื่อระบายอากาศภายในรถขณะเดินทางทุก 2 ชม. หมั่นตรวจสอบการทำงานของระบบระบายอากาศและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

และ 10.สำหรับรถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะ ควรทำความสะอาดแฮนด์รถ จยย. เบาะนั่ง และหมวกกันน็อกสำหรับผู้โดยสารด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับประชาชนที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นประจำ ควรมีหมวกกันน็อกเป็นของตนเอง และควรงดการพูดคุยในระหว่างใช้บริการเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถโดยสารประจำทาง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเส้นทางระหว่างจังหวัด (หมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง หมวด 4 กรุงเทพฯ หมวด 2 หมวด 3) รวมถึงรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีท้องที่ทำการขนส่งทั่วราชอาณาจักร สามารถให้บริการเดินรถตามเวลาปกติ ส่วนการให้บริการของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทาง ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติและควบคุม กำกับ ดูแลการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแต่ละจังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19