“การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบา เราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษและทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ

รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ความทรงจำที่ประทับใจในอดีตของปวงชนชาวไทย ยังคงจำได้ดีจนทุกวันนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นประทับบนแท่นรับเหรียญรางวัลเนื่องในวโรกาสที่ทรงเป็นนักกีฬาผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (ซีเกมส์) ซึ่ง ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

ชัยชนะในครั้งนั้นได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเชีย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติ จนเป็นที่ยอมรับและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก

ต่อมาทางราชการได้ถือ วันที่ 16 ธ.ค.ของทุกปี เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” นับเป็นเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทย มาจนถึงทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ว่า

“การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง”

พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท พร้อมทั้งทรงกีฬาหลายประเภทเช่นกัน นอกจากนั้นยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 , 8 และ 13 ซึ่งเป็นกีฬาระดับนานาชาติไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่น เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์

โดยพระราชทานนามเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภทโอเค ขึ้นอีก พระราชทานนามว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4

นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบและสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่า “เรือใบแบบมด” ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี”

ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานนามว่าเรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบแบบ “ไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภท โอเค พระราชทานนามเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (เป็นชื่อดาวที่สุกใสดวงหนึ่ง) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม ในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2509

ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือ สโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่างๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ, สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ, สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ, สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น

ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก คือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2530

นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้ ม.มหิดล ก็ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2534 อีกด้วย

ในโอกาสวันกีฬาแห่งชาติ 16 ธ.ค.2564 ซึ่งครบรอบ 55 ปี ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2510 ทางสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กองทัพเรือ และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการสร้างเรือใบโอเค จำนวน 10 ลำ พร้อมกับจัดให้มีการแข่งขันเรือใบวันกีฬาแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค.2564 ณ อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในกีฬาเรือใบ

อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการเผยแพร่กีฬาเรือใบ ให้แพร่หลายสืบไป

*** ข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ