เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เราจะเริ่มทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ได้อย่างไร โครงสร้างของเมือง มีลักษณะที่คล้ายกับระบบเส้นเลือดของร่างกายคนคือมีทั้งเส้นเลือดใหญ่ และ เส้นเลือดฝอย ประกอบกัน ร่างกายจะมีสุขภาพที่ดี ทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ต้องมีความแข็งแรงทั้งคู่ หัวใจจึงจะสูบฉีดให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างทั่วถึงทุกๆส่วน

ปัญหาของความไม่น่าอยู่ของ กทม. ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราให้ความสำคัญกับระบบเส้นเลือดใหญ่ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การก่อสร้าง Megaproject ต่างๆ แต่หลายๆครั้ง เราละเลยระบบเส้นเลือดฝอย ที่อาจจะดูไม่ยิ่งใหญ่ อลังการ หรือใช้งบประมาณไม่มาก แต่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

การระบายน้ำ เรามีอุโมงค์ยักษ์ราคาหลายหมื่นล้าน ขณะที่ท่อระบายน้ำหน้าบ้านเรายังอุดตัน เครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์การเก็บขยะ เรามีโรงเผาขยะที่ลงทุนเป็นหมื่นล้านที่หนองแขม อ่อนนุช แต่ถังขยะในชุมชนหลายๆที่ยังมีไม่พอ ไม่มีระบบการแยกขยะจากต้นทางอย่างจริงจัง

สวนสาธารณะ เรามีสวนสาธารณะหลักขนาดใหญ่ระดับโลกแบบสวนลุมพินี ที่มีสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่อุปกรณ์ครบครัน ในขณะที่พื้นที่สีเขียว ลานกีฬาและสนามเด็กเล่นเล็กๆใต้สะพานของชุมชน ใกล้บ้าน อยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแลการศึกษา เรามีมหาวิทยาลัยที่ประชาสัมพันธ์ว่าติดอันดับโลกหลายแห่ง แต่เราขาด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลเด็กอ่อนที่มีคุณภาพ ที่อยู่ใกล้ๆบ้าน

การเดินทาง เราจะมีรถไฟฟ้าระดับโลก ความยาวเกือบ 500 กม. 300 สถานี มีจำนวนสี พอๆกับสีรุ้ง แต่ทางเดินเท้ายังเดินไม่ได้ ไม่มีแสงไฟ เราต้องรอรถตู้ รถเมล์ สองแถว มอเตอร์ไซค์วิน เพื่อพาเรากลับถึงบ้าน

การสาธารณสุข เรามีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ (Tertiary Care Hospital) และ ระดับทุติยภูมิ (Secondary Care hospital) ระดับมาตรฐานโลก แต่การบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (Primary care) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และ ศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้บ้าน ยังขาดแคลนอุปกรณ์ บุคลากร อีกมาก

ระบบเส้นเลือดฝอยที่มีปัญหา สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพของเส้นเลือดใหญ่  เด็กนักเรียนแข่งกันเข้าโรงเรียนดังๆแทนที่จะเรียนโรงเรียนดีใกล้บ้าน คนไข้แออัดที่โรงพยาบาลศูนย์แทนที่จะคัดกรองก่อนที่ศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน น้ำรอการระบายที่ไปไม่ถึงอุโมงค์ยักษ์ ทางเดินเท้าที่เดินยากลำบากและไม่ปลอดภัยกว่าจะไปถึงป้ายรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า

การแก้ไขปัญหา “เส้นเลือดฝอย” อาจจะฟังดูไม่น่าตื่นเต้น เร้าใจเหมือนกับการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆอย่างอุโมงค์ยักษ์ รถไฟฟ้า โรงเผาขยะ แต่คือเรื่องสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย” คือ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และความตั้งใจจริง

กรุงเทพฯจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ ต้องมีพัฒนาทั้งระบบเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยไปพร้อมๆกันครับ