เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า 

โอไมครอนสายย่อยล่องหนได้ ตัวโอไมครอนที่รู้จักกัน มีส่วนแหว่งวิ่น ตรงส่วนหนาม S เลยทำให้มีการทำการ ตรวจพีซีอาร์แบบง่ายเพื่อบอกความน่าจะเป็น แต่ขณะเดียวกันการตรวจปกติอีกสามยีนก็อาจจะผิดพลาด ไม่ว่าตรวจไม่เจอหรือ เจอแต่ผลออกมาว่ามีไวรัสนิดหน่อย

เนื่องจากมีการแปลงรหัสพันธุกรรมเพี้ยนทั่วไปหมด สายย่อยล่องหนตัวนี้ไม่มีส่วนแหว่งวิ่น ดังนั้นการตรวจง่ายๆ ดังข้างต้นก็บอกไม่ได้ว่าเป็นโอไมครอนหรือเป็นตัวอื่น มิหนำซ้ำยังอาจตรวจจับได้ไม่ครบทุกยีน ถึงตอนนี้ คิดใหม่ดีกว่าว่าตรวจอย่างไรไม่ให้หลุดดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น โอไมครอน สายไหนหรือสายย่อย BA.1 หรือ BA.2 หรือ เดลต้า เบต้า และอื่นๆ แม้แต่ ไทยแลนด์เวอร์ชั่น และการด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตามหรือจะไขว้ มโน ตีลังกา ก็ตาม ก็ป้องกันไม่อยู่

จับตาที่จังหวัดกัวเต็ง แอฟริกาใต้ ที่เป็นจุดกำเนิดในการแพร่ของโอไมครอนซึ่งขณะนี้ยกระดับการติดเชื้อใหม่การเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต แม้ว่าจะระบุไม่ได้ว่าเป็นจากโอไมครอนทั้งหมด แต่เป็นที่สังเกตว่าการเริ่มระบาดใหม่มาพร้อมกับการปรากฏตัว ของโอไมครอน

ข้อมูล กัวเต็ง แนะนำ จาก อ.หมอ มาโนช ขอบคุณมากครับ