.

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.เขต 6 สงขลา และนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.เขต 1 ชุมพร พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.เนื่องจากคดีกบฏ กปปส.

ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเดินหน้าจัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา และเขต 1 ชุมพร ภายในกรอบ 45 วันนับแต่วันที่ตําแหน่งวางลงตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้นายถาวร และนายชุมพล พ้นจากตำแหน่งวันที่ 8 ธ.ค. หมายความว่า กกต. ต้องจัดเลือกตั้งซ่อมอย่างช้าภายในวันที่ 21 ม.ค. 2565

จากการตรวจสอบ สถานะตอนนี้ กกต.ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ่อมไปให้รัฐบาลและมีกำหนดนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ธ.ค.

ภายหลังโปรดเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ่อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.ต้องเดินหน้า เปิดรับสมัครและประกาศวันเปิดคูหาเลือกตั้งที่ชัดเจน 100%

ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดคือวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. 2565

เนื่องจากหลังโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ่อม กกต.ต้องปฏิบัติตามพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 36 เผื่อเวลาอย่างน้อย 25 วันปิดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจสอบ

หากย้อนกลับไปเช็กผลคะแนนเลือกตั้วันที่ 24 มี.ค.2562 พื้นที่สงขลาและชุมพร เป็นการขับเคี่ยวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ อย่างดุเดือด

(1) พื้นที่เขต 6 สงขลา ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ (เฉพาะตำบลบ้านพรุและตำบลพะตง) และอำเภอสะเดา (ยกเว้นตำบลสำนักแต้ว และตำบลสำนักขาม) พรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง 28,465 คะแนน ส่วนอันดับสอง พรรคพลังประชารัฐได้ 19,317 คะแนน

(2) พื้นที่เขต 1 ชุมพร ประกอบด้วย อำเภอเมืองชุมพร (ยกเว้นตำบลวังใหม่ ตำบลบ้านนา ตำบลหาดพันไกร ตำบลบางลึก และตำบลถ้ำสิงห์) และอำเภอสวี (ยกเว้นตำบลเขาทะลุและตำบลเขาค่าย) พรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง 42,683 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ ตามมาอันดับสอง 32,219 คะแนน

หากมองในภาพใหญ่พื้นที่ จ.สงขลา มีทั้งหมด 8 เขตเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ สามารถบุกยึดพื้นที่เขต 1, 2, 3, 4 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ รักษาฐานที่มั่นได้ 3 เขต 5, 6, 8 ส่วนพรรคภูมิใจไทยตีไข่แตกพื้นที่เขต 7

ขณะที่ จ.ชุมพร 3 เขต พรรคประชาธิปัตย์ ยึดพื้นที่เขต 1, 2 ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ตีไข่แตกที่เขต 3

พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวประกาศรักษาฐานที่มั่นโดยวางตัว น.ส.สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา ลงสมัครในเขตเลือกตั้ง 6 สงขลา ขณะที่ นายอิสระพงษ์ มากอำไพ เลขานุการนายก อบจ.ชุมพร ซึ่งเป็นหลานของภรรยาของนายชุมพล จุลใส ถูกวางตัวเตรียมลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 1 ชุมพร

ส่วนทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรค ยังสงวนท่าทีอ้างต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ก่อนมีมติออกมา

ย้อนกลับไปช่วงเดือน มี.ค. 2564 ในศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ประกาศไม่สนมารยาทการเมือง ส่งผู้สมัครเลือกตั้งชนกับพรรคประชาธิปัตย์ และสามารถแย่งเก้าอี้ ส.ส.เขต 3 จากพรรคประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่ได้ในที่สุด

ครั้งนั้น พล.อ.ประวิตร ประกาศจุดยืนการส่งคนสมัครเลือกตั้งซ่อมเป็นเรื่องของประชาธิปไตย พรรคไหนจะส่งหรือไม่ส่งก็ไม่เป็นอะไร ไม่เกี่ยวกับมารยาททางการเมือง!

ทำให้มีแนวโน้มสูงที่สนามเลือกตั้งสงขลา และชุมพร พรรคพลังประชารัฐ จะใช้ยุทธศาสตร์เดิมส่งผู้สมัครชนกับพรรคประชาธิปัตย์

เพื่อใช้สนามเลือกตั้งซ่อมเช็กเรตติ้งพื้นที่ภาคใต้ เพื่อปรับจูนยุทธศาสตร์เตรียมทำศึกเลือกตั้งใหญ่ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบวาระเดือน มี.ค. 2566!