น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ธปท.ร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเงิน จัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ หรือ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ช่วยให้ภาคธุรกิจได้มีข้อมูลการซื้อขายรวดเร็ว ได้รับใบแจ้งหนี้ ได้รับเงินในทันที และยังรู้ข้อมูลการชำระเงินและเรื่องภาษีต่างๆ

ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนทั้งกระดาษ แรงงานคน และขนส่งได้ถึง 60-80% คาดทั้งโครงสร้างฯจะเริ่มได้ครึ่งหลังของปี 65 โดยนำร่องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลซัพพลายเชน ไฟแนนซิ่ง นำข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้นจะเริ่มในเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจมีอุปสรรค โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและรายย่อย เช่น การขายสินค้า ผู้ขายจัดทำใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อ เดิมยังเป็นเอกสาร ซึ่งการจัดส่งไปให้ผู้ซื้อมีต้นทุน บางครั้งเกิดผิดพลาดและสูญหาย โดยผู้ซื้อจะชำระเงิน แม้จะมีหลายช่องทาง ทั้งเช็ก และโอนเงิน แต่ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งวงเงินและรูปแบบการชำระเงิน ทำให้ผู้ขายต้องติดตามใบเสร็จมาทำบัญชีจึงกระทบยอด และมีต้นทุน มีโอกาสผิดพลาดสูญหายได้ จึงเกิดโครงสร้างพื้นฐานฯนี้ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทำธุรกรรมดิจิทัลได้ง่ายมากขึ้น

“จะเริ่มจากดิจิทัลซัพพลายเชน ไฟแนนซิ่ง แพลตฟอร์ม ช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น ร่วมกันสมาคมธนาคารไทยและผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะเริ่มในปีนี้ โดยโครงสร้างพื้นฐานเรื่องนี้มีกลไกการป้องกันภัย โดยผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นไปมาตรฐานในการเชื่อมต่อกับระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง”

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบการชำระเงิน พร้อมเพย์ ได้รับการตอบรับดี ใช้บริการลงทะเบียน 69 ล้านหมายเลข ยอดใช้จ่าย 30 ล้านรายการต่อวัน ทำให้เห็นว่า ประชาชนใช้ชำระเงิน โอนเงินในชีวิตประจำวันมากขึ้น เห็นว่าพัฒนาบริการต่างๆต่อยอดบนระบบพร้อมเพย์ เช่น คิวอาร์โค้ด, บริจาคเงินเชื่อมลดหย่อนภาษี, ชำระบิลข้ามธนาคาร และโอนเงินต่างประเทศ เป็นต้น

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า ในต่างประเทศการทำธุรกรรมธุรกิจสู่ธุรกิจมีการพัฒนาไปมาก แต่ไทยยังอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ทำ เช่น ในต่างประเทศ คือ โครงสร้างพื้นฐานอี-อินวอย ส่งใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ส่งข้อมูลซื้อขายสินค้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ มีรายละเอียดสินค้าและบริการ แต่ไม่ครบวงจรมากเหมือนของไทยที่จะทำเชื่อมโยงข้อมูลเรียกเก็บเงิน การชำระเงิน และเรื่องภาษี สามารถลดต้นทุนต่างๆ กระดาษ แรงงาน ขนส่งถึง 60-80%

นอกจากนี้ภาคธุรกิจเมื่อมีข้อมูลเหล่านี้ ยังทำให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น มีข้อมูลอื่นๆมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ นอกจากรายได้ ยังมีข้อมูลการซื้อขายสินค้าจริง และยังช่วยโลกลดกระดาษ ลดการปล่อยคาร์บอนถึง 3 เท่า และแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยค้าขายไปต่างประเทศได้ด้วย

“ถ้าดูจากกระบวนการทำธุรกิจไทยในปัจจุบันในเอกสารค่อนข้างมาก อันดับแรกลดกระดาษได้ เอสเอ็มอี 2-3 ล้านราย และธุรกิจใหญ่อีก ถ้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้จะลดต้นทุน 60-80% และช่วยเรื่องชำระเงิน มีรอบเรียกเก็บเงินตามเครดิตเทอม ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เรียกเก็บเงินได้ทันทีไม่ต้องรอ โดยสามารถใช้ได้ผ่านตัวกลาง หรือแพลตฟอร์ม และธนาคาร”