“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้สำรวจเกี่ยวกับความต้องการของครัวเรือนในการบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพสูงขึ้นที่อาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 ผลสำรวจระบุว่าครัวเรือน 56% ต้องการมาตรการเยียวยาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐ เช่น การลดค่าน้ำค่าไฟในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อีก 19.0% ระบุว่าต้องหารายได้เพิ่มอย่างน้อยที่สุด 30% จากระดับรายได้เฉลี่ยปี 64 ทำให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้กระทบกำลังซื้อของภาคครัวเรือนต่อเนื่อง โดยการหารายได้เพิ่มขึ้นอาจทำได้ค่อนข้างจำกัดสำหรับแรงงานบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศต่อเนื่อง อัตราการได้รับวัคซีนครอบคลุม แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนอาจยังไม่ฟื้นกลับมาได้เต็มที่ อีกทั้งหากมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน เป็นวงกว้างจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อเนื่อง

นอกจากนี้ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังคงสร้างความวิตกกังวลให้กับภาคครัวเรือนต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าในทุกหมวด ทั้งราคาพลังงาน ราคาอาหาร สอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.64 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือนอยู่ที่ 2.71%  สาเหตุมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาด และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ส่วนการเปิดประเทศในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยอยู่ที่ 1.5 แสนคน ในช่วง 33 วัน ซึ่งมากกว่าในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่ 65,670 คน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมุมมองครัวเรือนเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานให้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ส่งผลให้ในภาพรวมดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนพ.ย.64 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 34.7 จาก 34.9 ในเดือน ต.ค. 64 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นไปในทิศทางเดียวกับปัจจุบันอยู่ที่ 36.5 จาก 36.7 ในเดือน ต.ค.

ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง ทั้งจากความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคแล้ว ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสโอไมครอนที่ปัจจุบันยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่สำคัญหลายอย่าง แม้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะจำกัดแต่ยังต้องรอติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าต่อไป

“ในช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว และมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการกลายพันธุ์ของไวรัส มาตรการเยียวยาค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการบริโภคจึงยังมีความจำเป็น รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันโรคระบาดควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและวัคซีนเข็มที่สาม”