สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ และสมเด็จพระราชินีซอนยา พร้อมเจ้าชายโฮกุน มกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาว่าการกรุงออสโล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2564 ให้แก่ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์และรัสเซีย คือ น.ส.มาเรีย เรสซา และนายดมิทรี มูราทอฟ


ทั้งนี้ เรสซา วัย 58 ปี ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาใดก็ตาม กล่าวว่า “ยุคสมัยที่สื่อมวลชนจะมัวแต่มาแข่งขันกันเองนั้นหมดไปแล้ว” เพราะสิ่งที่สื่อมวลชนต้องการมากที่สุดในเวลานี้ คือความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำข่าวแบบอิสระสามารถอยู่รอดต่อไป โดยเฉพาะในประเทศที่รัฐคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน ผู้ปฏิบัติงานในสายอาชีพนี้สมควรได้รับความคุ้มครอง

นางเบริต ไรสส์-แอนเดอร์เซน ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ มอบรางวัลสาขาสันติภาพ ให้แก่ น.ส.มาเรีย เรสซา และนายดมิทรี มูราทอฟ


ขณะที่มูราทอฟ วัย 59 ปี กล่าวถึงสถานการณ์ของสื่อมวลชนในรัสเซีย “อยู่ในหุบเขาอันมืดมิด” จากการที่รัฐบาลขึ้นบัญชีผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวจำนวนมากให้เป็น “ตัวแทนองค์กรต่างชาติ” และกล่าวอีกว่า สำหรับผู้สื่อข่าวทุกคนซึ่งทุ่มเททำงานในสายอาชีพของตัวเอง “ทุกคนอยากแก่ตายกันทั้งนั้น” สื่อเป็นนัยถึงคดีอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวนานาประเทศ

สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 สมเด็จพระราชินีซอนยา และเจ้าชายโฮกุน มกุฎราชกุมาร ทรงแสดงความยินดีกับ น.ส.มาเรีย เรสซา และนายดมิทรี มูราทอฟ


ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) หนึ่งในองค์กรอิสระด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครนิวยอร์ก ในสหรัฐ เผยแพร่รายงานว่า ตลอดปี 2564 โดยนับถึงวันที่ 1 ธ.ค. มีผู้สื่อข่าวถูกคุมขังอย่างน้อย 293 คน นอกจากนี้ มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 24 ราย เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และอีก 18 ราย เสียชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อม ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ตกเป็นเป้าหมายเพราะเรื่องหน้าที่การงานหรือไม่


เมื่อจำแนกออกเป็นรายประเทศ ปรากฏว่า จีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังผู้สื่อข่าวมากที่สุดในปีนี้ คือ 50 คน ตามด้วยเมียนมา 26 คน อียิปต์ 25 คน เวียดนาม 23 คน และเบลารุส 19 คน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AP