ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีผู้ร้องเรียนว่า ศอ.บต. ไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้าน ในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่า ศอ.บต. ไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้มีส่วนได้เสียให้รอบด้าน ในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต  อ.จะนะ จ.สงขลา ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้เกิดความเดือดร้อน แก่ประชาชนนั้น ข้อเท็จจริงคือ การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ศอ.บต. ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าวและอาจได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายโดยตรง จากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 โดย ศอ.บต. ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนให้แสดงความคิดเห็นในระหว่างเดือน เม.ย.2563-ก.ค.2563 ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 5 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 ทาง Website : http:/www.publicconsultation.opm.go.th  วิธีที่ 2 การจัดประชุมกลุ่มย่อย วิธีที่ 3 การแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ วิธีที่ 4 การสัมภาษณ์รายบุคคล วิธีที่ 5 การจัดเวทีประชาชนแสดงข้อคิดเห็นด้วยวาจา และได้ทำการประกาศสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนได้รับทราบเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2563 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว

จากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎว่า ศอ.บต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 22 (2) ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37(8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีคำวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้ ตามมาตรา 37 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 โดยให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งผลการวินิจฉัยให้ ศอ.บต. และผู้ร้องเรียนทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งโดยตรงและทางอ้อม หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อมูลทางวิชาการที่เป็นหรือจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการดังกล่าว สามารถเสนอไปยั้งคณะกรรมการ สำเนาถูกต้องบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบหรือทาง ศอ.บต. ในฐานะผู้ดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนั้นในช่วงปี 2563 คณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ของ ศอ.บต. ไม่มีความเป็นธรรมและไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากไม่คำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย กสม.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จากการลงพื้นที่ ประชุมตรวจสอบกรณีร้องเรียน รวมทั้งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่ง ศอ.บต. ได้ดำเนินการจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจ โครงการเมืองต้นแบบ เพื่อจัดเก็บข้อมูลความจำเป็น รับฟังความเห็น ข้อเสนอและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อย่างรอบคอบบนพื้นฐานของประชาชน โดยได้มอบหมายให้องค์กรองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการจัดเวทีจำนวน 32 เวที ซึ่งเวทีการประชุมดังกล่าวเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การจัดทำกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.253 มาตรา 10 รวมทั้งจัดทำสรุปผลการประชุมเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเมืองต้นแบบเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับได้มีคำสั่งที่ 986/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้มีกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาและประสานงานในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งต่อมาผู้ร้องได้มีหนังสือถอนคำร้อง ลงวันที่ 13 ก.พ. 2563 ถึง กสม. โดยแจ้งว่าประสงค์ใช้สิทธิตามกฎหมายผ่านช่องทางอื่นแทนจากการตรวจสอบของ กสม. จึงถือเป็นกรณีตามมาตรา 39 (9) และข้อ 17 (2) ซึ่งกำหนดให้ กสม.สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่ผู้ร้องประสงค์ขอถอนเรื่องร้องเรียนเห็นควรยุติเรื่องดังกล่าว.