ในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศลากยาวเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ออกไปช่วงกลางปี 2565

ส่วนเป็นวันไหนนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด โดย ครม.จะเป็นฝ่ายให้สัญญาณไปถึง กกต.!

ทบทวนความจำภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารปี 2557 ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 แช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับนานหลายปี จากนั้นแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ และเริ่มทยอยปลดล็อกเลือกตั้ง
(1) วันที่ 20 ธ.ค. 2563 เลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด
(2) วันที่ 28 มี.ค. 2564 เลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 2,472 แห่ง
(3) วันที่ 28 พ.ย. 2564 เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง

จับอาการรู้เลยในจังหวะที่ ครม.เข้าเกียร์ว่าง ไม่มีความชัดเจนเรื่องเปิดคูหาเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ ปัญหาหลักมาจากความไม่พร้อมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ภายหลังผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ประกาศชัดเจนไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ส่งผลให้พรรค พชปร.ไม่สามารถหาคู่ท้าชิงที่พอฟัดพอเหวี่ยงไปชนกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

หมายความว่าหากรัฐบาลกดปุ่มเปิดคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ช่วงต้นปี 2565 เท่ากับปล่อยให้ นายชัชชาติ กินรอบวงแบบไม่ต้องลุ้น!

จากการตรวจสอบเรื่องปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นถูกวางค่ายกลไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฉบับปี 2562

ผู้มีอำนาจเขียนแทรก ในบทเฉพาะกาล มาตรา 142 รวบอำนาจให้ ครม. มีหน้าที่ อนุมัติ จัดเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ ครั้งแรกหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้

มาตรา 142 ให้สิทธิขาด ครม.อนุมัติเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใด และเมื่อใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร จากนั้นแจ้งให้ กกต.รับทราบ!

แตกต่างจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฉบับปี 2545 ที่กำหนดเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีต้องรับฟังข้อเสนอแนะจาก กกต. เรื่องเดินหน้าเลือกตั้งท้องถิ่น

พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะรู้ดี สนามเลือกตั้ง กทม.คือรากฐานสำคัญของการเมืองระดับชาติ เพื่อใช้เป็นฐานคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต ก่อนรัฐบาล ครบวาระเดือน มี.ค.2566

นาทีนี้ฟันธง การเลือกตั้งสนาม กทม.จะเกิดขึ้นต่อเมื่อพรรค พปชร.มีความพร้อมและได้เปรียบมากที่สุด ตราบใดที่พรรค พปชร.ไม่มีความพร้อมเลือกตั้งในสนาม กทม. บทเฉพาะกาล มาตรา 142 เปิดช่องให้ ครม.ยื้อเลือกตั้งสนาม กทม.ออกไปได้แบบอันลิมิเต็ด ชนิดไม่มีขอบเขต ไม่จำกัด และไม่มีข้อบังคับใดๆ!